กลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs (Non-Communicable diseases)

Non-Communicable diseases

กลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs (Non-Communicable diseases)

โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของประเทศไทย และเป็นสาเหตุของ การเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ทั้งนี้สถานการณ์โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อนั้นเป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรา ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะค่อยๆสะสมอาการ มีการดำเนินของโรคไปอย่างช้าๆ และค่อยทวีความรุนแรง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วจะเกิดการเรื้อรังของโรคตามมาด้วย

โรค NCDs คืออะไร

โรคไม่ติดต่อ หรือที่เราเรียกว่าโรค NCDs ซึ่งย่อมาจาก Non-Communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการการใช้ชีวิต ดังนั้นโรคกลุ่ม NCDs บางครั้งก็อาจจะเรียกว่า โรคที่เราทำขึ้นมาเอง

พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตที่เป็นสาเหตุของการป่วยโรค NCDs

  • ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง แป้ง น้ำตาล มากเกินความจำเป็น รับประทานอาหารรสเค็มจัด รับประทานผักและผลไม้น้อย
  • กิจกรรมในแต่ละวันน้อยไม่เพียงพอ ทำงานนั่งโต๊ะตลอดทั้งวัน ไม่ได้ออกกำลังกาย
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • มีความเครียดสะสม ไม่สามารถจัดการความเครียดของตนเองได้

โรคกลุ่ม NCDs มีโรคอะไรบ้าง

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าโรคในกลุ่ม NCDs เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การกิน การนอน การพักผ่อน การออกกำลังกาย และการทำงานต่างๆ ดังนั้นโรคในกลุ่มนี้จึงได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม โรคตับแข็ง และโรคสมองเสื่อม(อัลไซเมอร์)เป็นต้น

สำหรับ 7โรคในกลุ่มโรค NCDs ที่พบมากในคนไทย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง และโรคอ้วนลงพุง

  • โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่วัดระดับความดันโลหิตได้มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 mmHg
  • โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังอีกโรคหนึ่ง เสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะไตวายได้
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งอาจจะไม่มีอาการเตือนมาก่อน พอมีอาการอาจทำให้มีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง ถือว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทย โดยมักจะพบในกลุ่มคนอายุมากกว่า45ปี และมักมีโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง พฤติกรรมการสูบบุหรี่จัด อาการที่ต้องสังเกต เช่น แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ปวดศีรษะเฉียบพลัน วูบแบบเฉียบพลัน
  • โรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ อาการจะมีอาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด เป็นต้น
  • โรคมะเร็ง เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจมีหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การได้รับสารเคมี โดยโรคจะแสดงอาการค่อนข้างช้า และหากแสดงอาการ มักจะเป็นระยะที่ค่อนข้างเป็นมากแล้ว
  • โรคอ้วนลงพุง ผู้ที่มีปัญหาอ้วนลงพุง มักจะมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆตามมาได้

อ้วน-ผอม ประเมินอย่างไร

การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย จะทำให้เราทราบถึงรูปร่างและสัดส่วนว่าเป็นอย่างไร และหากมีค่าดัชนีมวลกายที่ไม่เหมาะสมก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

ค่าดัชนีมวลกาย Body Mass Index หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BMI คือ ตัวชี้วัดมาตรฐานเพื่อประเมินสภาวะของร่างกายว่า มีความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่

ค่า BMI สามารถใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองเพื่อระบุผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วนและผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในผู้ใหญ่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป

ค่า BMI คำนวณจาก ค่าของน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลัง 2 และแสดงในหน่วย กก./ม2

BMI

โดยสามารถแปลผลค่า BMI ได้ดังนี้

ค่า BMI < 18.5 แสดงถึง อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
ค่า BMI 18.5 – 22.90 แสดงถึง อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ค่า BMI 23 – 24.90 แสดงถึง น้ำหนักเกิน
ค่า BMI 25 – 29.90 แสดงถึง โรคอ้วนระดับที่ 1
ค่า BMI 30 ขึ้นไป แสดงถึง โรคอ้วนระดับที่ 2

ห่างไกลโรค NCDs ด้วย 3อ 2ส

  • อาหาร : รับประทานอาหารรสชาติพอดี ไม่หวาน ไม่เค็ม ไม่มัน เลือกปรุงอาการด้วย ต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ รับประทานผัก ผลไม้ที่รสไม่หวาน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
  • อารมณ์ :ลดความเครียด หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ พูดคุยพบปะเพื่อน อ่านหนังสือ เล่นกีฬา ท่องเที่ยว
  • ออกกำลังกาย: เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นการขึ้นลงบันได แทนการใช้ลิฟต์ การออกกำลังกายเพื่อให้ได้ความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือด คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับปานกลาง 150 นาที ต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 30นาที/วัน 5วันต่อสัปดาห์ เช่นการเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน
  • ส:ลดดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการดื่มหรือจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่จะดื่ม
  • ส:งดสูบบุหรี่

พญ. พรพิมล คชประเสริฐ

พญ. พรพิมล คชประเสริฐ
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ตรวจสุขภาพ
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 17.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 227

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK