ทำไมผู้หญิงทุกคนควรตรวจ Mammogram

ตรวจมะเร็งเต้านม, ตรวจแมมโมแกรม

เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่าเมื่อผู้หญิงทุกคนมีอายุเข้าเลข 4 นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว ก็ควรต้องได้รับการตรวจ "แมมโมแกรม" แต่มีใครรู้บ้างว่าการตรวจแมมโมแกรมนั้นมีความสำคัญอย่างไร ทำไมผู้หญิงทุกคนถึงไม่ควรมองข้าม
แพทย์หญิงจีรวัฒน์ พรายทองแย้ม แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา มีคำตอบให้ค่ะ

ตรวจ "แมมโมแกรม" คืออะไร?

การตรวจแมมโมแกรม(Mammogram) คือ การเอกซเรย์เต้านมซึ่งใช้ปริมาณรังสีขนาดต่ำ ทำให้เห็นภาพเนื้อเยื่อภายในเต้านมว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เราสามารถแบ่งการตรวจแมมโมแกรมนี้ออกเป็น 2 แบบ คือ ตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ(Screening) และตรวจภายในผู้ที่มีอาการ(Diagnosis) เช่น ในรายที่คลำเจอก้อนที่เต้านมหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณเต้านม

เมื่อไหร่ที่ควรตรวจ "แมมโมแกรม" ?

การตรวจแมมโมแกรมนั้นเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งแนะนำให้ตรวจในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการก็ควรตรวจแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงในรายที่มีความผิดปกติที่เต้านม เช่น คลำเจอก้อนที่เต้านม เจ็บเต้านม ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะผิดปกติ มีของเหลวไหลออกจากหัวนม เพราะการตรวจแมมโมแกรมนั้นจะช่วยในการวินิจฉัยว่า ความผิดปกตินั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และการตรวจแมมโมแกรมยังสามารถใช้เพื่อติดตามการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ด้วย

ขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม

การตรวจแมมโมแกรม สามารถตรวจได้แบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ซึ่งวิธีตรวจนั้น จะให้ผู้ป่วยอยู่ในท่ายืนหันหน้าเข้าหาเครื่อง และทางเจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่า เพื่อวางเต้านมทีละข้างลงบนเครื่องตรวจ ซึ่งเครื่องจะค่อย ๆ กดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมแผ่ออก ทำให้โอกาสตรวจพบสิ่งผิดปกติจะสูงขึ้น แต่ในรายที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ เนื่องจากรังสีเอกซเรย์อาจส่งผลกระทบเป็นอันตราต่อทารกในครรภ์ได้

นี่ล่ะ!! ข้อดีของการตรวจแมมโมแกรม

  • สามารถตรวจพบเนื้องอกหรือความผิดปกติที่มีขนาดเล็กได้
  • สามารถตรวพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกที่ยังไม่เกิดการแพร่กระจายได้
  • ไม่มีรังสีตกค้างในตัวผู้ป่วย
  • ไม่มีผลข้างเคียงจากการตรวจ

ผู้หญิงทุกคน สามารถตรวจแมมโมแกรมได้หรือไม่?

ความจริงแล้วทุกคนสามารถตรวจแมมโมแกรมได้ เพียงแต่ในบางรายอาจมีข้อจำกัดเล็กน้อย เช่น ในรายที่เนื้อเยื่อเต้านมมีความหนาแน่นสูง อาจทำให้ยากต่อการแปลผล หรือเห็นความผิดปกิได้ยาก หรือในรายที่เคยได้รับการผ่าตัดเสริมเต้านม อาจทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนถูกบดบัง เพราะรังสีไม่สามารถผ่านวัสดุที่ใช้เสริมเต้านมได้มากเท่าที่ควร รวมไปถึงมะเร็งเตานมบางชนิด อาจไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยแมมโมแกรม

ก่อนเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

ทุกครั้งก่อนเข้ารับการตรวจ ผู้ที่เข้ารับการตรวจจำเป็นจะต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ตรวจทราบถึงอาการหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเต้านม ประวัติการผ่าตัดเต้านม การใช้ฮอร์โมน และยาคุมกำเนิด และไม่ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงใกล้มีประจำเดือน เพราะช่วงนั้นเต้านมจะตึงทำให้เจ็บกว่าปกติ ช่วง 1 อาทิตย์หลังหมดประจำเดือนจึงเป็นช่วงที่ดีที่สุด รวมถึงในวันตรวจไม่ควรใช้เครื่องสำอาง แป้ง หรือโลชั่น เพราะอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจได้ รวมถึงควรติดตามผลด้วยตัวเอง หากไม่ได้รับผลตรวจให้ติดต่อไปทางโรงพยาบาล เพราะการไม่ได้รับผลตรวจนั้น ไม่ได้แปลว่าผลตรวจอกมาเป็นปกติเสมอไป




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์เต้านม
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: