มือ เท้า ปาก โรคระบาดในเด็กที่มาพร้อมฤดูฝน

มือ เท้า ปาก

มือ เท้า ปาก โรคระบาดในเด็กที่มาพร้อมฤดูฝน

"โรค มือ เท้า ปาก" เรียกได้ว่าเป็น “โรคที่ระบาดยอดนิยมในเด็กโรคหนึ่ง” และมักจะตรวจพบเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้ในจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเราลองมาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นเพื่อที่จะทำการรับมือกับโรคนี้กัน


มือ เท้า ปาก

มาทำความรู้จักกับโรค มือ เท้า ปากกัน

โรคมือเท้าปากนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ในกลุ่มที่เรียกกันว่าเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โดยตัวไวรัสในกลุ่มนี้ ที่มีเชื้อรุนแรงที่สุดก็คือ เอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งจะมีการติดต่ออย่างรวดเร็ว และมักพบบ่อยในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ตั้งแต่เตรียมอนุบาล 1 อนุบาล 2 จะเป็นช่วงวัยที่พบโรคนี้ได้ง่าย ในบางรายมากกว่า 5 ปี ก็มีเจอบ้างเล็กน้อย แต่ความรุนแรงก็ลดหลั่นลงไป

ลักษณะอาการของโรค

โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากอาการมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย 1-2 วันต่อมาจะมีแผลในปากคล้ายร้อนใน เกิดการอักเสบและเจ็บบริเวณแผล ส่งผลให้รับประทานอะไรไม่ค่อยได้ มีอาการน้ำลายไหล นอกจากมีแผลในปากแล้ว ยังจะมีผื่นแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใส ขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อพับ และอาจมีตามลำตัวด้วย ส่วนใหญ่จะมีอาการหนักอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์

สิ่งที่ควรระวังขณะเกิดโรคนี้

เชื้อไวรัสบางชนิด อย่างเช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ หากพบว่ามีอาการไข้ขึ้นสูง ไม่ยอมดื่มนม หรือรับประทานอาหาร อาเจียนบ่อย มีอาการหอบ แขนขาอ่อนแรง และหากเกิดอาการชัก ให้รีบพาไปพบแพทย์ในทันที ส่วนบางรายจะพบอาการสมองอักเสบด้วย โดยจะมีอาการภาวะหายใจและระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ซึ่งอาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ วิธีสังเกตอาการดังกล่าวก็คือ อาการซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชักกระตุก บางรายอาจจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

แนวทางการรักษาโรคมือเท้าปาก

มือ เท้า ปาก

ถึงจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังไม่มียาต้านไวรัสเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ ต้องทำการรักษาตามอาการ ถ้าเป็นไข้สูง แพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำ นม รวมทั้งน้ำผลไม้แช่เย็น รวมทั้งไอศกรีม น้ำแข็ง เยลลี่ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในช่องปาก แล้วจึงสามารถรับประทานอาหารได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติทั่วไปอาการโรคนี้จะไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน

โรคที่มักจะพบในเด็กๆ รองลงมานั้นมีอะไรบ้าง

นอกจากโรคมือเท้าปากแล้ว ก็จะมีอีกโรคหนึ่งที่มีอาการคล้ายๆ กัน เรียกว่า โรคแฮงแปงไจน่า (Herpangina) ก็จะนิยมเป็นในช่วงฤดูฝนเช่นกัน นอกนั้นก็จะเป็นพวกไข้หวัด กลุ่มไข้หวัดใหญ่ โรคในเด็กจะมีอยู่ประมาณนี้ แต่เวลาที่เด็กๆ ไปโรงเรียน ก็มักจะเล่นไปตามประสาเด็กๆ การควบคุมก็ลำบากหน่อยดังนั้นตอนอยู่ที่โรงเรียน คุณครูต้องคอยดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด เพราะในบางรายเด็กที่ป่วยก็ไม่รู้ตัว จะกลายเป็นว่าไปแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่นได้

ป้องกันตัวอย่างไรให้ห่างไกลโรค

  • รักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ
    ผู้ปกครอง และคุณครูควรแนะนำบุตรหลาน ให้รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังการขับถ่าย ไอ หรือจาม และหลังสัมผัสกับกลุ่มผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่นแก้วน้ำ หลอด ผ้าเช็ดหน้า ของเล่น เป็นต้น
    จะต้องให้คำแนะนำไม่ให้เด็กๆ ใช้สิ่งของร่วมกัน รวมทั้งผู้ปกครอง และคุณครูต้องหมั่นรักษาความสะอาดของเล่น อุปกรณ์ เครื่องใช้ สถานที่ และห้องสุขาอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และหมั่นดื่มน้ำสะอาด
    การเลือกรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งควรอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องถึง
  • หากพบผู้ป่วยต้องไม่คลุกคลีหรือใกล้ชิดอย่างเด็ดขาด
    ทันทีที่พบเห็นผู้ป่วย ต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสนี้กระจายไปยังผู้อื่น ควรปิดสถานที่นั้นๆ เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค นอกจากนั้นควรแนะนำผู้ปกครอง หรือคุณครูให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ


นพ.พงษ์เทพ อังกุรานนท์

นพ.พงษ์เทพ อังกุรานนท์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์ทั่วไป


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์กุมารเวช
ชั้น 2A โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 22.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 314, 317, 318

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK