รู้ทันสัญญาณโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) และเทคนิคการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

หัวใจตีบสนิท

เทคนิคการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แม้ตีบสนิทก็อาจไม่ต้องผ่าตัด


การรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายเกือบ 100 % และสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไปแล้ว ในมุมมองของนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหัวใจระดับประเทศ ศาสตราธิคุณ นายแพทย์ วสันต์ อุทัยเฉลิม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ และหลอดเลือดประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และแพทย์ที่ปรึกษาประจำ โรงพยาบาลสุขุมวิท เพียงแต่สำหรับโรคนี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ และสั่งสมประสบการณ์มามากพอ ต่อความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วย ที่ทำการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสนิทได้มากกว่า 90%

หัวใจตีบ

สถานการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบัน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบันนี้ นับเป็นโรคที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตในประเทศไทย ถ้านับทั่วโลกด้วยน่าจะเป็นอันดับต้นๆ ยิ่งถ้าดูจากสถิติที่ผ่านมา ในประเทศไทยทุก 15 นาที ก็จะมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างน้อย 1-2 รายเลยทีเดียว


สาเหตุหลักของคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

สาเหตุหลักยังไม่มีใครรู้แน่นอน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบได้ง่ายมีหลายอย่างเช่น อาการความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน สูบบุหรี่เป็นประจำ นอกจากนี้มีสาเหตุอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่น เรื่องพันธุกรรม สภาวะแวดล้อม ความตึงเครียดและ อาหารการกิน เป็นต้น


ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้

ในสมัยก่อนโรคนี้มักจะพบในกลุ่มคนที่มีอายุมาก แต่ปัจจุบันกลับพบในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น และโดยสถิติทั่วไปมักพบโรคนี้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัน และสูบบุหรี่ คนกลุ่มนี้ต้องหมั่นตรวจเช็คร่างกายว่าพบอาการของโรคหัวใจร่วมด้วยหรือไม่


คนที่เป็น Heart Attack ต้องปฏิบัติตัวเบื้องต้นอย่างไร

สำหรับคนที่เป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย (Heart Attack) ที่เกิดจากลิ่มเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน อาจมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปยังบริเวณกราม ไหล่และแขน มีเหงื่อออกตามร่างกาย เหนื่อยง่ายหายใจถี่ หอบเหนื่อย วิงเวียน คลื่นไส้และอาเจียน ควรรีบพบแพทย์ทันที โดยต้องไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะการรักษาที่ดีที่สุดคือต้องเปิดเส้นเลือดให้เร็วที่สุดด้วย เข้ารับการรักษาช้า อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและถึงแก่ชีวิตได้


หัวใจตีบ

เทคโนโลยีในการรักษาโรคหัวใจในปัจจุบันนี้มีอะไรบ้าง

โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันนั้นต้องยอมรับว่าวิธีการรักษาที่ดีที่สุด นอกจากการให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้ว คือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดตอนที่มีอาการเลย ยิ่งเร็วที่สุดยิ่งดี กล้ามเนื้อหัวใจจะได้ไม่ถูกทำลายมากจนเกินไป ส่วนรายที่เป็นแบบเรื้อรัง บางครั้งอาจมีหลอดเลือดอุดตันแบบตีบสนิท 100% ได้เช่นกัน โดยบางรายก็มีอาการไม่มาก แต่เป็นบริเวณที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากพอสมควร(>10% ของกล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมด) ซึ่งการทำบอลลูนในกรณีนี้จะยากกว่าปกติ เนื่องจากมีการอุดตันสนิทมามากกว่าสามเดือน ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษบางอย่างร่วมด้วย เช่น ลวดตัวนำแบบพิเศษ และบางรายก็มีหินปูนที่หลอดเลือดมาก อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือกรอหินปูนออกก่อน ที่เรียกว่าเครื่อง Rotablator เป็นต้น สำหรับโรต้าเบเตอร์ (Rotablator) หรือที่เรียกว่าหัวกรอกากเพชรนี้ เป็นเทคโนโลยีในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสนิท โดยเฉพาะในเคสที่เส้นเลือดหัวใจตีบมาก หรือตีบสนิทจากการที่มีไขมัน และหินปูนเกาะตัวตามผนังหลอดเลือด และไม่สามารถทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ Stent แบบปกติได้ เพราะการทำบอลลูน จะเป็นเพียงการรักษาโดยการดันคราบไขมันให้ไปติดกับผนังหลอดเลือด และใส่ Stent เพื่อเพิ่มช่องทางการไหลเวียนของกระแสเลือดเท่านั้น แต่การใช้โรต้าเบเตอร์ในการรักษาจะเป็นการช่วยสลายสิ่งอุดตันในเส้นเลือดให้เป็นอนุภาคที่เล็กลง ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น แต่ต้องทำการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ


หลังการเข้ารับการรักษาผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ต้องประกอบกับตอนที่มาทำการรักษา มาเร็วหรือว่ามาช้า กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายไปมากน้อยเท่าไร ต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป บางรายถ้ามาเร็วแล้วโชคดีกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เสียหายมากนัก ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้ แต่บางคนกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายไปบางส่วน ก็ต้องทำกายภาพ เพื่อฟื้นฟูร่างกายฟื้นฟูหัวใจ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ควบคุมเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้โรคนี้ย้อนกลับมาเป็นอีก


การใช้ชีวิตของคนไทยส่งผลทำให้เป็นโรคหัวใจเยอะมากขึ้น

เพราะชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ ส่งผลให้มีการรับประทานอาหารจานด่วน ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง แล้วส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ นอกจากนั้นเป็นเพราะความเครียด ที่ในปัจจุบันพบในคนเมืองมากกว่าคนในชนบท


อาการของคนที่เป็นโรคนี้

ในส่วนอาการของโรคสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่เป็นแบบ ภาวะหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง (Chronic Ischemic Heart Disease) มีอาการเป็นๆ หายๆ มักจะเจ็บหรือแน่นหน้าอก ตอนที่ออกกำลังกายจะเป็นแค่ 1 - 2 นาที แล้วก็จะดีขึ้น กับอีกกลุ่มคือเป็น ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน(Acute Coronary Syndrome) ตอนที่ออกกำลังกายจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกยาวนานต่อเนื่องมากกว่า 15 นาที หรือ ครึ่งชั่วโมงขึ้นไป หรือในบางรายก็ไม่มีอาการอะไรมาก่อนเพียงแต่รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ที่น่าตกใจคือคนที่ออกกำลังประจำหรือนักกีฬาก็ยังมีโอกาสเป็นโรคนี้แบบเฉียบพลันขึ้นมาได้ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว


นอกจากเทคนิคการรักษา โดยแพทย์ผู้ชำนาญ และสั่งสมประสบการณ์ เกี่ยวกับโรคหัวใจแล้ว เรามาขอคำแนะนำ เรื่องการดูแลสุขภาพหัวใจ จาก นายแพทย์ นิวิธ กาลรา แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ และหลอดเลือด ประจำโรงพยาบาลสุขุมวิท กันต่อ


หัวใจตีบ

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

หลักการสำคัญของการป้องกันโรคนี้ ก็คือ

  1. การปรับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของตัวเอง จากการศึกษาพบว่าการดูแลตัวเองในแต่ละวันนั้นเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ผมจึงมักจะแนะนำคนไข้อยู่เสมอ ว่าควรใส่ใจเรื่องของการรับประทานอาหาร อย่างเช่น การหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีรสเค็ม หรือรสจัดและควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นหลัก
  2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใน 1 สัปดาห์ควรใช้เวลาออกกำลังกายประมาณ 150 นาที หรือจะแบ่งง่ายๆ เป็น 30 นาทีต่อ 5 วัน หรือ 50 นาที ต่อ 3 วัน ก็ได้ ส่วนวิธีการออกกำลังกายแนะนำว่าเป็นแบบคาดิโอ หรือเวท ขอให้มีเหงื่อเวลาออกกำลังกายจะดีที่สุด
  3. การทำให้น้ำหนักตัวอยู่ตามเกณฑ์ ซึ่งการดูเกณฑ์น้ำหนักตัวจะต้องพิจารณาจากส่วนสูงร่วมด้วย แล้วค่อยมาประเมินว่าคนไข้แต่ละคนนั้นน้ำหนักตัวควรอยู่ในเกณฑ์ที่เท่าไร

และทั้งหมดนี้ก็คือ 3 วิธี ที่จะช่วยป้องกันให้ห่างไกลจากโรคหัวใจได้ นอกจากนั้นควรลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่นการควบคุมความดันโลหิต ควบคุมน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานให้ดี ควบคุมไขมันในเลือด รวมทั้งการเลิกสูบบุหรี่ด้วย สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนทำง่าย แต่ว่าจริงๆ แล้วก็ต้องใช้ความพยายามมากเช่นกัน สุดท้ายสิ่งสำคัญของการป้องกันได้ทุกโรคเลย คือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ

การตรวจสุขภาพเป็นประจำนั้นมีข้อดีอยู่ คือในกลุ่มแรกเลย เป็นกลุ่มคนไข้ที่ไม่มีอาการแล้วตรวจเจอความเสี่ยง ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็จะสามารถแก้ไขและปรับความเสี่ยงนั้นๆ ได้ หรือสามารถยืดระยะเวลาการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจออกไป ส่วนในกลุ่มที่สอง กลุ่มคนไข้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่แล้ว การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะทำให้สามารถวินิจฉัยและทำการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดอันตรายต่อชีวิตผู้ป่วย และช่วยลดค่าใช้จ่ายของการรักษาในระยะยาวได้


โรคหัวใจเป็นโรคเกี่ยวกับพันธุกรรม

พันธุกรรมเป็นความเสี่ยงที่เราแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นควรเริ่มทำการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับผมเอง ถ้ามีคนไข้มาวินิจฉัยโรคหัวใจกับผมแล้ว ผมมักจะแนะนำให้ญาติพี่น้องของเขาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำด้วย เพื่อจะลดความเสี่ยงที่อาจจะตามมา ทีนี้ถ้าถามต่อว่าควรจะตรวจอะไรบ้าง เป็นคำถามที่ตอบยากเพราะว่าแต่ละคนก็มีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น ในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวาน ก็ควรต้องตรวจตาปีละ 1 ครั้ง ตรวจการทำงานของเส้นประสาททุก 4 – 6 เดือน นอกจากนั้นต้องตรวจการทำงานของไต ทุก 3 - 4 เดือนด้วย เรียกได้ว่ามีแบบแผนในการตรวจของกลุ่มคนไข้ที่มีความเสี่ยงของโรคเบาหวานอยู่เช่นเดียวกันในกลุ่มของคนไข้ที่เป็นโรคความดันก็ต้องมีการตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นสำหรับโรคหัวใจเอง ผมก็มักจะแนะนำว่าทั้งคุณผู้ชาย หรือคุณผู้หญิงหากมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำ ปีละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ


สำหรับโรคหัวใจแล้ว เป็นโรคใกล้ตัวสำหรับทุกคน การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข พร้อมกับการควบคุมอาหาร ทั้งปริมาณเกลือ และของทอดไม่ให้เยอะจนเกินไป พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ลด ละ เลิก ความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดโรคหัวใจ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการดูแลสุขภาพหัวใจง่ายๆ ได้ด้วยตัวของเราเองแล้ว


รศ.นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม

รศ.นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 665, 666


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK