ปวดหู

ปวดหู

อาการที่บ่งบอกว่าหูชั้นนอกอักเสบ คือ มีอาการคัน ระคายเคือง ปวดหู หูอื้อ หรือมีของเหลวไหลออกจากหู สิ่งที่สังเกตุเห็นคือผิวหนังของรูหูส่วนนอกจะบวมแดงเฉพาะที่ อาจเห็นเป็นหัวฝีหรือบวมทั้งหมด พบหนองที่มีกลิ่นเหม็นภายในหู เวลาเคลื่อนไหวใบหูจะมีอาการเจ็บมาก อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณหน้าหรือหลังหู ในรายที่เป็นมากอาจทำให้ใบหูยื่นไปข้างหน้า กระดูกหูบวม แดง และกดเจ็บ หรือมีอาการอัมพาตของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 (ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ใบหน้า และการแสดงสีหน้า)

การป้องกันหูชั้นนอกอักเสบที่ดีที่สุด คือ ไม่แคะหรือเขี่ยขี้หูออก ถ้าหูอื้อหรือมีขี้หูควรให้แพทย์ส่องกล้องเอาออกให้

สาเหตุของอาการปวดหู เกิดได้ทั้งจากโรคของหูเอง (หูชั้นนอก, หูชั้นกลาง, หูชั้นใน) และจากอวัยวะข้างเคียงดังนี้

1. สาเหตุจากหูชั้นนอก

 

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการปวด, บวมแดงที่ใบหู ช่องหูชั้นนอกอักเสบ เกิดจากการแคะหูหรือปั่นหู น้ำเข้าหู อาการ ปวด บวมในช่องหู, มีหนองไหล (ในผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการรุนแรง, มีไข้สูง ต้องรีบปรึกษาแพทย์) การรักษา ยาปฏิชีวนะกินหรือฉีด, ยาหยอดหู
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น เริมที่ใบหู จะมีตุ่มน้ำที่หู และปวดแสบปวดร้อน 
    การรักษา ให้ยากลุ่ม Acyclovia, สเตียรอยด์, ยาแก้ปวด
  • การติดเชื้อรา จะมีอาการหูอื้อ มีน้ำไหล เเละมีอาการปวดหูได้ รักษาโดยการพบเเพทย์ทำความสะอาดช่องหูเเละใช้ยารักษาเชื้อรา

2. สาเหตุจากหูชั้นกลาง

  • การอักเสบของหูชั้นกลาง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งมักเกิดตามหลังไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ ในเด็กเล็กมักใช้นิ้วมือแหย่หู ไม่ยอมให้จับหู มีไข้ และอาจมีหนองไหลจากหู ไม่ควรปล่อยให้เป็นหวัดยาวนาน รีบรักษาเมื่อมีอาการน่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์หู คอ จมูก 
    การรักษา ยาปฏิชีวนะ, ยาแก้ปวด
  • อาการปวดหูเนื่องจากการดำน้ำ หรือนั่งเครื่องบิน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันของอากาศรอบตัวกับความดันในหู (Barotrauma) 
    การป้องกัน เช่น อมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือให้ดูดขวดนมในเด็กทารกในขณะขึ้นเครื่องบิน รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคในการปรับความดันในหูขณะดำน้ำ

3. สาเหตุจากหูชั้นใน

ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหูเวลาที่ได้ยินเสียงดัง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในหรือเส้นประสาทหูเสื่อม นอกจากนี้มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเสียงดังในหูหรือการได้ยินลดลง
      การรักษา แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก

 

      สาเหตุของอาการปวดหูที่ไม่ได้มาจากโรคของหู แต่มาจากอวัยวะข้างเคียง เกิดจากการปวดร้าวมาตามเส้นประสาทที่มีการเชื่อมต่อกับบริเวณของหู เช่น

  • ฟันผุ เหงือกอักเสบ
  • ต่อมทอนซิล หรือคออักเสบ
  • ไซนัสอักเสบ
  • โรคของข้อต่อกระดูกขากรรไกร
  • เนื้องอกทางหู คอ จมูก
ศูนย์ : หู คอ จมูก 
ปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก : 02-391-0011