คำถามยอดฮิต Q&A การดมยาสลบ

ดมยาสลบ
 

ดมยาสลบคือ?

ยาที่วิสัญญีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญใช้เพื่อให้ผู้ป่วยหลับ ไปจนถึงหมดสติ ไม่รู้สึกตัว เพื่อประโยชน์ต่อขั้นตอนการรักษา ยาสลบ มีทั้งรูปแบบก๊าซ โดยให้ผู้ป่วยสูดดมผ่านทางหน้ากากหรือท่อช่วยหายใจ และ ประเภทยาฉีด ส่วนมากนิยมฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

ทำไมต้องใช้ยาสลบ

การผ่าตัด หรือหัตถการเพื่อการวินิจฉัยหรือรักษาบางชนิด ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ความกังวล ส่งผลกระทบต่อการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงสภาวะจิตใจของผู้ป่วย อีกทั้งผู้ป่วยไม่สามารถอยู่นิ่งเพียงพอเพื่อให้การผ่าตัดสำเร็จได้ ยาสลบ จึงนำมาใช้เพื่อระงับความรู้สึกและการตอบสนองต่อความเจ็บปวดหรือสิ่งกระตุ้นที่เกิดระหว่างการผ่าตัด/หัตถการนั้น ตลอดจนการดูแลสภาวะของผู้ป่วย อำนวยให้เกิดความสะดวก ความปลอดภัยสำหรับการผ่าตัดของศัลยแพทย์

การระงับความรู้สึก (Intraoperative anesthesia) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1 General Anesthesia คือ การระงับความรู้สึกทั่วไปหรือทั่วร่างกาย (เรียกง่าย ๆ ที่เข้าใจกันว่า “การให้ยาสลบ” หรือ “การดมยาสลบ”) ทำให้ผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ปราศจากความเจ็บปวด ไม่สามารถจำเหตุการณ์ในระหว่างผ่าตัดได้ ด้วยการให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ หรือการสูดยาดมสลบเข้าทางระบบทางเดินหายใจ อาจจะมีการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับวิสัญญีแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดนั้นๆ เช่น การดมยาสลบ (Inhalational Anesthetic Agents) ผ่านหน้ากากสำหรับช่วยหายใจ (Anesthetic Mask)

2 Regional Anesthesia คือ การ ให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน ทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหมดความรู้สึกชั่วคราวด้วยยาชาเฉพาะที่ ได้แก่ การฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal Anesthesia) หรือที่เรียกกันว่า “บล็อกหลัง” สำหรับการผ่าตัดคลอด การฉีดยาชาบริเวณเส้นประสาทส่วนปลาย เพื่อระงับความรู้สึกบริเวณแขน (Brachial Plexus Block) สำหรับการผ่าตัดบริเวณ แขน มือ เป็นต้น

3 Monitor Anesthesia care คือ การเฝ้าระวังและการประคับประคองสภาวะต่างๆ ของผู้ป่วยขณะทำหัตถการ โดยบุ คลากรทางวิสัญญีวิทยา โดยอาจให้ หรือ ไม่ให้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือยาระงับปวด (อ้างอิงจากสมาคมวิสัญญีแพทย์อเมริกา, American Society of Anesthesiologist: ASA) ยกตัวอย่างเช่น การให้ยาระงับประสาทและ/หรือยาระงับปวด โดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ(Sedation - Analgesia) เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ลดความกังวล ลดความเจ็บปวด จนถึงทำให้หลับ ในขณะทำหัตถการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร

4 Local หรือ Topical Anesthesia คือการบริหารยาชาเฉพาะที่ตรงตำแหน่งที่ต้องการทำหัตถการ เช่น ฉีดยาชารอบๆบาดแผล การพ่นยาชาในคอก่อนการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร เป็นต้น

วิสัญญีแพทย์จะเลือกใช้วิธีระงับความรู้สึกแบบใด เพื่อให้การผ่าตัดราบรื่น และปลอดภัย ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วย ชนิดหรือลักษณะของการผ่าตัด รวมถึงความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ด้วย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ระดับความลึกของการระงับประสาทแบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับตื้นหรือระดับคลายกังวล (Mild sedation) ระดับปานกลาง ( Moderate sedation) ระดับลึก (Deep sedation และ ระดับการระงับความรู้สึกแบบทั่งร่างกาย (General Anesthesia) ซึ่งระดับการรู้สึกตัวจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามระดับยาในเลือด และสิ่งกระตุ้นจากการผ่าตัด

ดมยาสลบ

หัตถการหรือการผ่าตัดแต่ละชนิดมีความต้องการ ระดับของการระงับประสาทที่แตกต่างกัน การระงับประสาทที่มากเกินอาจเกิดผลข้างเคียง /ภาวะแทรกซ้อนโดยไม่จำเป็น
การระงับประสาทหรือยาสงบประสาทในระดับตื้น ปานกลาง จนถึงระดับลึก วิธีนี้ เรียกว่า Sedation-Analgesia สามารถทำได้โดยการให้ยาสงบประสาท และ/หรือยาแก้ปวด มักให้เป็นยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะคลายกังวล ผ่อนคลายหรือนอนหลับ ลดความเจ็บปวด ทนต่อความไม่สุขสบาย ระหว่างทำหัตถการได้ โดยที่ผู้ป่วยยังคงมีการทำงานของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนเลือดเป็นปกติ (เว้นแต่ระดับลึก อาจมีการหายใจน้อยลงได้บ้าง) การระงับประสาทโดยการฉีดยาให้หลับนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องช่วยหายใจหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งทีมวิสัญญีจะเป็นผู้ดูแลให้การระงับความรู้สึกอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการผ่าตัด ไม่ลึกเกินไปจนถึงระดับ General Anesthesia โดยส่วนมากจะไม่เกินระดับ Moderate sedation
การจะทำให้ผู้ป่วยมีระดับการรู้สึกตัวระดับใดระดับหนึ่งนั้น ต้องการผู้มีประสบการณ์ ชำนาญการให้ยาอย่างมีศิลปะ โดยทั่วไปแล้วผู้ให้ยามักให้ยาลึกกว่าระดับที่ต้องการสำหรับทำหัตถการ/การผ่าตัดเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่ตื่น ขยับตัว หรือปวดจนไม่สามารถทำหัตถการได้
ดังนั้น เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาที่ได้รับยาสงบประสาท สามารถวินิจฉัย และจัดการภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที แพทย์ พยาบาล ที่ไม่ได้ผ่านการอบรมทางวิสัญญีวิทยา ไม่ควรให้ยาสงบประสาทเพื่อทำหัตถการในระดับที่ลึกกว่า Moderate sedation แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบริหารยาสงบประสาทแล้ว ผู้ป่วยอาจมีระดับความลึกของการระงับประสาทเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระดับที่ลึกกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นทีมดูแลเฝ้าระวังจึงต้องมีความสามารถ และความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ระดับ Mild จนถึง Deep Sedation ได้

ขั้นตอนกระบวนการให้ยาสงบประสาท และ/หรือ ยาระงับปวด เพื่อทำหัตถการ/ผ่าตัด (Sedation-Analgesia)

  1. ก่อนผ่าตัด แพทย์ พยาบาล หรือทีมที่ดูแล เตรียมความพร้อมของผู้ป่วย โดยประเมินสภาพร่างกายและจิตใจผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงให้ คำปรึกษา ข้อมูล ข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง ของการได้รับยาสงบประสาทแก่ผู้ป่วย ตลอดจนกำหนดแผน ขั้นตอน การเตรียมตัวก่อนมาโรงพยาบาล และได้รับเอกสารความยินยอมรับการให้ยาสงบประสาทเพื่อทำหัตถการ
  2. ในวันผ่าตัด/หัตถการ ตรวจสอบเอกสารความยินยอม และประเมินผู้ป่วยซ้ำก่อนเริ่มให้ยาสงบประสาท
  3. ตรวจสอบความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ และยาที่จำเป็น
  4. เปิดหลอดเลือดดำ
  5. ติดอุปกรณ์ติดตามสัญญาณชีพ และให้ออกซิเจนผ่านทางสายจมูก หรือหน้ากาก ตามความเหมาะสม
  6. ให้ยาสงบประสาท ยาระงับปวด ตามแผน (โดยมากจะเป็นการบริหารทางหลอดเลือดดำ) และเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยตลอดการผ่าตัด
  7. เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด หรือ หัตถการ ส่งผู้ป่วยไปห้องพักฟื้นตามเกณฑ์
  8. ติดตาม เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยต่อในห้องพักฟื้น จนสามารถจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน (กรณีผู้ป่วยนอก) หรือหอผู้ป่วยได้ ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
  9. ส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้แลต่อ เพื่อให้สามารถดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การให้ยาระงับประสาท และ/หรือยาแก้ปวด (Sedation-Analgesia) หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า การฉีดยาให้หลับ เพื่อให้ระดับการรู้สึกตัวของผู้ป่วยอยู่ในระดับ Mild, Moderate หรือ Deep sedation ดังกล่าวข้างบนนั้น แตกต่างจากการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (General Anesthesia) ทั้งในแง่ของ ความลึกของระดับการระงับประสาท คือ ผู้ป่วยจะหมดความรู้สึกทั้งตัว ไม่ตอบสนองต่อความปวด หรือการกระตุ้นใดๆ มักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือช่วยหายใจผ่านทางอุปกรณ์อื่น ๆ ระบบไหลเวียนเลือดอาจทำงานลดลง (ตารางที่1) และต้องการการดูแลจากทีมวิสัญญี สำหรับระดับ General anesthesia ซึ่งต่างกับ การฉีดยาสงบประสาท (Sedation-Analgesia) ผู้ป่วยจะเพียงแค่ง่วง หลับ ไปจนหลับลึก และยังตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ขึ้นอยู่กับระดับความสงบ (ตารางที่ 1) และสามารถทำได้ โดยผู้ที่ไม่ใช่วิสัญญีแพทย์ แต่มีความเชี่ยวชาญและได้รับเอกสิทธิ์ในการบริหารยาสงบประสาท (เว้นแต่ระดับลึก (Deep sedation) ที่ต้องการผู้ที่ผ่านการอบรมทางวิสัญญีวิทยาโดยเฉพาะ ในการดูแลผู้ป่วย)

ขั้นตอนและการดูแลผู้ป่วย ในการให้การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (General anesthesia) หรือ การดมยาสลบ

  1. ประเมิน เตรียมสภาพผู้ป่วย และจำแนกผู้ป่วยตามเกณฑ์ของสมาคมวิสัญญีแพทย์อเมริกา (American Society of Anesthesiologists Physical Status)
  2. ในวันผ่าตัด/หัตถการ ตรวจสอบเอกสารความยินยอม และประเมินผู้ป่วยซ้ำก่อนเริ่มให้ยาระงับความรู้สึก
  3. ตรวจสอบความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ และยาที่จำเป็น
  4. ติดอุปกรณ์ติดตามสัญญาณชีพ เพื่อบันทึกและเฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยตลอดการผ่าตัด
  5. ขั้นตอนการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ
    - การนำสลบ คือการทำให้ผู้ป่วยเริ่มหลับ มีหลายวิธีที่ใช้บ่อย เช่น การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ และการสูดดมยาสลบ โดยก่อนฉีดยานำสลบ วิสัญญีแพทย์จะทำการครอบหน้ากากออกซิเจนที่ปากและจมูกของผู้ป่วย แล้วฉีดยานำสลบทางหลอดเลือดดำ จนผู้ป่วยจะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว หลังจากนั้นจะใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใช้อุปกรณ์ใดในการช่วยหายใจ ขึ้นอยู่กับการวางแผนของวิสัญญีแพทย์
    - การรักษาระดับของการสลบ วิสัญญีแพทย์จะเลือกใช้ยาดมสลบ (Inhalational Anesthetic Agents) หรือยาที่บริหารทางหลอดเลือดดำอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยคงระดับการสลบ ไม่รู้สึกตัว ไม่ปวด ระหว่างการผ่าตัด
    - การฟื้นจากยาสลบ คือ การทำให้ผู้ป่วยฟื้นหลังจากการผ่าตัด เมื่อขั้นตอนการผ่าตัดเสร็จสิ้น วิสัญญีแพทย์จะหยุดให้ยาสลบ ยาดมสลบ และอาจมีการให้ยาแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยตื่นรู้สึกตัว ส่วนมากในการผ่าตัดทั่วไป ที่ไม่มีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรง วิสัญญีแพทย์จะให้ผู้ป่วยตื่นในห้องผ่าตัดทันทีที่ผ่าตัดเสร็จ และจะถอดท่อช่วยหายใจ ในรายที่มีการใส่ท่อช่วยหายใจ แล้วจึงย้ายผู้ป่วยไปเฝ้าดูอาการในห้องพักฟื้นต่อไป
  6. หลังการระงับความรู้สึก ติดตาม เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยต่อในห้องพักฟื้น โดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม จนสามารถจำหน่ายได้ ช่วงระยะฟื้นจากยาสลบ ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจมีวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคอ หรืออาการข้างเคียงอื่นๆ จนกว่ายาสลบจะหมดฤทธิ์
  7. จำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน(กรณีผู้ป่วยนอก) หรือหอผู้ป่วย ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้แลต่อ เพื่อให้สามารถดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหา ผลข้างเคียง ภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบ

การระงับความรู้สึกขณะผ่าตัด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่อันตราย 10-30% เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ เสียงแหบจากการใส่ท่อช่วยหายใจ ปวดแผลหลังผ่าตัด ปวดเมื่อยตามตัว ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้นน้อยมากๆ ขึ้นอยู่กับสุขภาพ ความแข็งแรง ภาวะเจ็บป่วย ของผู้ป่วย แต่ก่อนการผ่าตัด จะมีการตรวจ และเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดเสมอ
แม้ว่ามีการพัฒนาในเรื่องของยาระงับความรู้สึกและเครื่องมือมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การให้ยาระงับความรู้สึกในปัจจุบันถือว่ามีความปลอดภัยสูง สามารถทำการผ่าตัดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูงและสามารถให้ยาระงับความรู้สึกในผู้ป่วยเฉพาะ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาโรคประจำตัวได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เปรียบได้กับการเดินข้ามถนน ซึ่งแม้ว่าจะมีความรอบคอบระแวดระวัง ก็ยังอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวอาจไม่รุนแรง เกิดผลกระทบต่อร่างกายเพียงเล็กน้อย หรืออาจมีความรุนแรงจนเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต อาจเกิดได้ยากนานๆ ครั้ง หรือเกิดได้บ่อยๆ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น วิธีการให้ยาระงับความรู้สึก การผ่าตัด ภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะโรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่พบบ่อยจากการดมยาสลบ (General Anesthesia)

  • รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ช่วงหลังจากฟื้นจากยาสลบ
  • เสียงแหบ คอแห้ง เจ็บคอ (1:2) เนื่องจากระหว่างผ่าตัดอาจมีการสอดท่อช่วยหายใจผ่านทางปากเข้าไปในลำคอ
  • รู้สึก วิงเวียนศีรษะ (1:5) คลื่นไส้ อาเจียน (1:4) ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ได้รับยาสลบ แต่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเป็นวันได้
  • ปากแห้ง หรือบาดเจ็บบริเวณริมฝีปาก (1: 20)
  • ปวดเมื่อย
  • ตัวสั่น หรือรู้สึกหนาวสั่น อาจเกิดขึ้นชั่วขณะ ยาวนานหลายนาที ไปจนหลายชั่วโมง

ภาวะแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อย

  • เกิดความเสียหายภายในช่องปากและฟัน (1:100) จากการสอดท่อช่วยหายใจ
  • การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทและบริเวณที่ถูกกด (1 : 1,000)
  • การรู้สึกตัวระหว่างการได้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก (0.41:10000) เพราะวิสัญญีแพทย์จะคอยดูแลให้ยาสลบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ
  • รู้สึกสับสนมึนงง หรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราว แต่มีผู้ป่วยบางรายที่จะสูญเสียความทรงจำไปอย่างถาวร ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบน้อยแต่มีความเสี่ยงสูงอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

  • ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจติดขัด หายใจไม่ออก เส้นเสียงบาดเจ็บเสียหายรุนแรง
  • ใส่ท่อช่วยหายใจไม่ได้ (1: 5,000)
  • แพ้ยา (1: 15,000) โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ยาสลบอย่างรุนแรง เช่น มีผื่น ตัวบวม หน้าบวม หายใจหอบ คลื่นไส้ อาเจียนความดันโลหิตต่ำ
  • ภาวะสำลักน้ำย่อยหรือเศษอาหารเข้าทางเดินหายใจ ( 1: 30,000 ถึง 1: 60,000)
  • ไม่ตื่นหลังผ่าตัด (8: 10,000)
  • ภาวะสงสัยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (1:10000)
  • หัวใจหยุดเต้น (0.5-1 : 10,000)
  • เสียชีวิต (0.06-6:10000) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดแต่มีโอกาสเกิดน้อยมากเพียง 1 ใน 100,000-200,000 รายเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อนและการเจ็บป่วยอื่น เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน เป็นต้น

ตาราง อุบัติการณ์เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (จากข้อมูลใน ประเทศและต่างประเทศ)

ดมยาสลบ

เอกสารอ้างอิง
ประกาศราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.๒๕๖๒ เรื่อง แนวทางพัฒนาการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก (Guidance for patient information about anesthesia)
1. Charuluxananan S, Punjasawadwong Y, Suraseranivongse S, Srisawasdi S, Kyokong O, Chinachoti T, et al. The Thai Anesthesia Incidents Study (THAI Study) of anesthetic outcomes: II. Anesthetic profiles and adverse events. J Med Assoc Thai. 2005;88(Suppl7):s14-29.
2. Charuluxananan S, Chinachoti T, Pulnitiporn A, Klanarong S, Rodanant O, Tanudsintum S. The Thai Anesthesia Incidents Study (THAI Study) of perioperative death: analysis of risk factors. J Med Assoc Thai. 2005;88(Suppl 7):s30-40.
3. JenkinsK,BakerAB.Consentandanaestheticrisk.Anaesthesia.2003;58:962-84.
4. Charuluxananan S, Sriraj W, Punjasawadwong Y, Pitimana-aree S, Lekprasert V, Werawatganon T, et al. Perioperative and anesthetic adverse events in Thailand (PAAd Thai) incident reporting study: anesthetic profiles and outcomes. Asian Biomed. 2017;11(1):1-12 .

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายจากการใช้ยาสลบ

การใช้ยาสลบในปัจจุบันค่อนข้างปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้นโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหลังการใช้ยาสลบจึงขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย และประเภทของการผ่าตัดมากกว่าการออกฤทธิ์ของยาสลบ

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางวิสัญญี

  • อายุมากกว่า 65 ปี
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • มีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
  • มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางสมอง โรคไต โรคเลือด โรคอ้วน มีภาวะชัก ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) เป็นต้น
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ยา มีประวัติแพ้ยาสลบ หรือมีประวัติครอบครัวเคยแพ้ยาสลบ
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาที่อาจส่งผลให้มีภาวะเลือดออกเพิ่มขึ้น เช่น ยาแอสไพริน ยาสมุนไพรบางชนิด
  • ชนิดของการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดสมอง การผ่าตัดที่เสียเลือดมาก เป็นต้น

การตื่นระหว่างผ่าตัด ภาวะการรู้สึกตัวระหว่างดมยาสลบ (Awareness)

มีโอกาสตื่นระหว่างการผ่าตัดหรือไม่
ภาวะรู้สึกตัวระหว่างดมยาสลบ ในขณะผ่าตัด (Awareness) คือ การรู้สึกตัว ได้ยิน จำเหตุการณ์ได้ และอาจรู้สึกเจ็บปวด จากการผ่าตัดขณะนั้นร่วมด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว ระหว่างการดมยาสลบ (General Anesthesia)โอกาสตื่นระหว่างการผ่าตัดน้อยมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะยาสลบจะกดความรู้สึกตัวและความทรงจำ ผู้ป่วยจะหมดสติ ไม่ได้ยิน จำเหตุการณ์ขณะผ่าตัดไม่ได้
แต่สำหรับบางกรณีที่มีโอกาสตื่น เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่มีอันตรายต่อชีวิตที่วิสัญญีแพทย์จำเป็นต้องลดระดับการสลบลงกะทันหันเพื่อรักษาชีวิต เช่น มีการเสียเลือดมากอย่างรวดเร็ว เกิดภาวะช็อก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกรณีรุนแรงจนหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น ในช่วงที่มีการลดระดับการสลบนี้ ผู้ป่วยอาจมีจังหวะที่รู้สึกตัวขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกเจ็บปวด เนื่องจากฤทธิ์ยาแก้ปวดที่ให้มักยังหลงเหลืออยู่

การตื่นระหว่างดมยาสลบ (Awareness) อาจส่งผลกระทบต่อภาวะทางจิตใจเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการตกใจ หวาดกลัว กลัวการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะมีการพูดคุย เยียวยาให้ความเข้าใจกับผู้ป่วยในเบื้องต้น และจะได้การดูแลรักษาต่อไป โดยจิตแพทย์ ในกรณีที่คาดว่าจะมีปัญหาทางจิตใจระยะยาว

อย่างไรก็ตาม มีหัตถการหรือการผ่าตัดพิเศษบางประเภท เช่น การผ่าตัดสมองแบบผู้ป่วยตื่น (Awake Craniotomy) ที่ผู้ป่วยจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาในช่วงหนึ่งของการผ่าตัดโดยความตั้งใจ เพื่อทำการทดสอบการตอบสนองบางอย่างระหว่างผ่าตัด จุดประสงค์เพื่อผลที่ดีจากการรักษา และป้องกัน/ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ในช่วงที่ตื่นผู้ป่วยจะรู้สึกตัว สามารถทำตามคำสั่งได้ แต่จะไม่รู้สึกเจ็บ เนื่องจากยังได้รับยาแก้ปวดอยู่ ซึ่งก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการประเมิน เตรียมความพร้อมร่วมกันกับทีมศัลแพทย์ วิสัญญีแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นกรณีนี้ ถ้าผู้ป่วยมีความเข้าใจ สามารถอดทนต่อความกลัว และให้ความร่วมมือในระหว่างผ่าตัด จะทำให้ผลการผ่าตัดดีขึ้น ผ่านไปได้อย่างปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจตามมา

ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน (Regional Anesthesia) หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ ร่วมกับได้รับการฉีดยาสงบประสาทเพื่อให้หลับ (Sedation and Analgesia) หรือ ได้รับเพียงยาสงบประสาท (Sedation and Analgesia) ผู้ป่วยจำนวนมากมักจะเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า การตื่นรู้สึกตัวในระหว่างผ่าตัดนี้ คือ ภาวะการรู้สึกตัวระหว่างดมยาสลบ (awareness)

การให้ยาสงบประสาท และ /หรือยาระงับปวด (Sedation-Analgesia) เพื่อให้หลับระดับตื้นไปจนถึงระดับลึก (Mild Sedation to Deep Sedation) เพียงเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวล สามารถทนการนอนผ่าตัดนาน ๆ ได้อย่างสุขสบาย การระงับความรู้สึกด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยสามารถถูกปลุกตื่น รู้สึกตัวได้ และยังมีความทรงจำ แต่จะไม่ทรมาน อึดอัด จะไม่เรียกการตื่นแบบนี้ว่า คือ “ภาวะการรู้สึกตัวระหว่างดมยาสลบ” (awareness) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนทางวิสัญญีที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

พญ.ภาวิณี อิ่มคง

พญ.ภาวิณี อิ่มคง
(Anesthesiologist)



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: