มะเร็งลำไส้ รักษาได้ด้วยการส่องกล้อง

มะเร็งลำไส้


“มะเร็งลำไส้” รักษาได้ด้วยการส่องกล้อง

มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบมากที่สุดในมะเร็งทางเดินอาหาร อุบัติการณ์จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ทั้งนี้จากข้อมูลในประเทศไทยล่าสุดปี 2560 โดยสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับ 3 จากประชากรทั้งหมด โดยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในเพศชายสูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากมะเร็งตับและท่อทางเดินน้ำดี ส่วนในเพศหญิงพบเป็นอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก โดยช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดในเพศชายคือ 55-59 ปี และในเพศหญิงคือ 50-54 ปี

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดขึ้นจากเซลล์เยื่อบุผิวภายในลำไส้ใหญ่โดยชนิดที่พบบ่อยมากกว่าร้อยละ 90 คือ เนื้อเยื่อของมะเร็งที่มีลักษณะทางพยาธิวิทยาที่เรียกว่า Adenocarcinoma ทั้งนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะกลายมาจากเนื้องอกธรรมดาที่เยื่อบุผนังภายในลำไส้ เนื้องอกเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องกลายมาเป็นมะเร็งเสมอไปแต่โอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของเนื้องอกเหล่านี้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิด "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

  1. อาหารและรูปแบบการใช้ชีวิต - การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารแปรรูปจำพวก ไส้กรอก แฮม เบคอน รับประทานผักและผลไม้ในปริมาณต่ำ
  2. พันธุกรรม
    • มีประวัติส่วนตัวหรือบุคคลในครอบครัวเป็นติ่งเนื้อหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • โรคซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

สัญญาณเตือนอาการของ "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

  1. ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
  2. ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง ปริมาณและความถี่อุจจาระที่ถ่ายน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น
  3. ถ่ายท้องผูกสลับท้องเสีย
  4. ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด คลำได้ก้อนในท้อง
  5. มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
  6. ซีด
  7. คลื่นไส้ อาเจียน
  8. อ่อนเพลีย ผอมลง เบื่ออาหาร

ระยะของโรคการเกิดโรคของ "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

มะเร็งลำไส้ใหญ่แบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่

  1. ระยะที่ 1 โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้
  2. ระยะที่ 2 โรคมะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้และหรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงแต่ไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
  3. ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง แต่ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น
  4. ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปหรือลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด เป็นต้น

การตรวจคัดกรองและการรักษา "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

สำหรับวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเลือดที่แฝงอยู่ในอุจจาระ การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สำหรับผู้ที่ควรเข้ารับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ชายหรือหญิงอายุ 45-50 ปีขึ้นไป ผู้มีญาติลำดับแรกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ทีมีประวัติครอบครัวเป็นโรคซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ และผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ได้ผลดี ต้องเป็นการรักษาร่วมแบบสหสาขาวิชาประกอบด้วยการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผ่าตัดทางหน้าท้องหรือการผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง การให้ยาเคมีบำบัด และการให้รังสีรักษา โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมตามแต่ระยะโรคในผู้ป่วยแต่ละรายไป

การเตรียมตัวเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ในการตรวจลำ ไส้ใหญ่ให้มีประสิทธิภาพดี จะต้องเตรียมลำไส้ใหญ่ให้สะอาด ไม่มีอุจจาระบดบังรอยโรคผนังลำไส้ เพราะหากพบความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้องอก อาจต้องตัดออก ดังนั้น การเตรียมลำไส้ จึงมีความสำคัญมากและต้องปฏิบัติดังนี้

  1. 2-3 วันก่อนตรวจ ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย งดรับประทานผัก ผลไม้ ธัชพืชและอาหารที่มีเส้นใย
  2. รับประทานยาระบายให้ตรงตามจำนวนและเวลาตามที่แพทย์สั่ง
  3. ควรดื่มน้ำ 1 แก้วทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ
  4. คืนวันก่อนตรวจงดอาหารและน้ำดื่ม เว้นยาระบายที่แพทย์สั่ง จนกว่าจะทำการตรวจ
  5. ควรมีญาติมาด้วย

การเข้ารับการตรวจการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

จุดเด่นของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการคัดกรองมะเร็งลำไส้ที่มีความแม่นยำสูงกว่าวิธีอื่น ๆ สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ในคราวเดียวกัน หากพบรอยโรคผิดปกติสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจได้ หรือ หากพบติ่งเนื้อก็สามารถตัดออกผ่านทางการส่องกล้องได้ทันที

มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการคัดกรองโดยการส่องกล้อง ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงถือเป็นเรื่องจำ เป็นโดยเฉพาะในผู้ที่อายุเกิน 45-50 ปี ถ้าผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำ ให้เพิ่มโอกาสตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่ระยะแรก เช่น ถ้าเจอในระยะแรกที่ยังเป็นติ่งเนื้ออยู่ ก็จะสามารถรักษาด้วยการตัดชิ้นเนื้อออกผ่านการส่องกล้องได้ แต่ถ้าตรวจพบในระยะท้ายแล้ว อาจจะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษา อัตราการรอดชีวิตจะลดลงเมื่อเทียบกับการตรวจพบแต่ระยะแรกของโรค ดังนั้นหากตรวจคัดกรองเร็ว วินิจฉัยโรคได้เร็วก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้

แนวทางป้องกัน

ผู้ป่วยควรรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชซึ่งปราศจากการขัดสีให้มากขึ้น ลดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารแปรรูปจำพวกไส้กรอก แฮม เบคอน เป็นต้น ทั้งนี้ควรออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และที่สำคัญควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้แต่เนิ่นๆ ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

  1. รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชซึ่งปราศจากการขัดสีให้มากขึ้น
  2. ลดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารจำพวกไส้กรอก แฮม เบคอน เป็นต้น
  3. ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  4. งดดื่มแอลกอฮอล์
  5. งดสูบบุหรี่
  6. ผู้ที่มีอายุ 45 - 50 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง Colonoscopy จะช่วยให้สามารถตรวจพบเจอมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกเริ่ม และ สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอายุ 45 ปีขึ้นไปในกลุ่มที่มีความเสี่ยง


นพ.กรณ์ เลิศพิภพเมธา
นพ.กรณ์ เลิศพิภพเมธา
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมโรคทางเดินอาหารและตับ




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ชั้น1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225 - 227



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: