คนกลุ่มไหนบ้างที่เสี่ยงเป็น “โรคเบาหวาน”

โรคเบาหวาน

กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน คือ กลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกิน แต่ก็อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลาย ๆ ประการ เช่น ประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ไม่ออกกำลังกาย มีประวัติความดันสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ มีรอบเอวเกิน มีประวัติการเป็นโรคเบาหวานตอนตั้งครรภ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น ทั้งนี้ โรคเบาหวานเมื่อเป็นช่วงแรก ๆ จะไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยและเข้ารับการตรวจรักษาเมื่อเป็นโรคได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว และส่วนหนึ่งตรวจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย เพราะฉะนั้นคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานควรตรวจคัดกรองโรคก่อนโดยไม่ต้องรอแสดงอาการ ซึ่งอาจจะช้าเกินไปแล้ว เพราะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานแล้วและไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาปกติได้

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สามารถตรวจวินิจฉัยดูระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ ซึ่งถ้าพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะรักษาง่ายกว่า สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น จอประสาทตาเสื่อม ไตวาย เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองได้และในระยะยาวก็จะส่งผลดีกว่าด้วย

การรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน

การรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน ถ้าตามมาตรฐานเป็นการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งสำคัญมาก โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ได้แก่ การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมซึ่งสามารถช่วยควบคุมน้ำตาลได้ดี ไม่ ต้องใช้ยาเป็นปริมาณมากก็ชะลอการดำเนินโรคได้ ส่วนการใช้ยาจะเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากปัจจุบันมียาตัวใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดซึ่งเป็นยาที่พัฒนามาใหม่ สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น ทำให้น้ำตาลต่ำน้อยลง แล้วก็สามารถใช้ได้ค่อนข้างง่ายและผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย


“สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้พบผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุอย่างหนึ่งคือประชากรที่อายุยืนยาวขึ้น ร่วมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การรับประทานอาหารที่มีปริมาณพลังงานเกินความต้องการขาดการออกกำลังกายกิจวัตรประจำวันที่มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อย นั่นคือความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน”



โรคเบาหวาน

สร้างความเข้าใจ ก่อนให้การรักษา

สำหรับคนไข้ที่เป็นเบาหวาน ขั้นแรกเมื่อมาวินิจฉัยที่เรา จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวานในระดับไหน มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบหลอดเลือด ทางจอประสาทตา เส้นปลายประสาทใต้เท้าเสื่อมหรือยัง มีโรคร่วมอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูงที่ต้องการรักษาไปควบคู่กันหรือไม่ ส่วนเมื่อเข้ารับการรักษาก็จะมีการอธิบายเพื่อให้คนไข้เข้าใจว่า โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมต้องรักษา ถ้าไม่รักษาแล้วจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ตาบอด ไตวาย เส้นประสาทปลายเท้าเสื่อม ทำให้เส้นเลือดในสมอง เส้นเลือดหัวใจตีบได้อย่างไร "เมื่อคนไข้เข้าใจความสำคัญของการรักษาโรคเบาหวานแล้ว คนไข้จะตั้งใจและให้ความสำคัญกับการรักษามากขึ้น" ส่วนมากคือเราจะอธิบายความสำคัญให้เขาเข้าใจ เพราะคนไข้หลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจว่าเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมต้องรักษา ถ้าเราบอกความสำคัญของการรักษาคนไข้ก็จะให้ความร่วมมือและให้ความสำคัญในการรักษามากขึ้น

เมื่ออธิบายทำความเข้าใจกันแล้ว เราก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา การเลือกยาให้เหมาะสมกับคนไข้และมีการแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว การคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน กับงานที่ทำ กับกิจวัตรประจำวันของคนไข้ ส่วนการเลือกยาเราก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับคนไข้เพราะยามีหลายตัว เราก็ต้องเลือกให้เหมาะสมช่วงแรกของการรักษา ถ้าระดับน้ำตาลไม่ดีเราอาจต้องนัดติดตามบ่อย แต่ถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เราอาจจะมีการนัดตรวจติดตามทุก 3-4 เดือน การติดตามจำเป็นจะต้องทำไปตลอดชีวิตเพราะเบาหวานอย่างไรก็ไม่มีทางหายขาด เมื่ออายุมากขึ้น การคุมน้ำตาลแย่ลง การควบคุมน้ำตาลจะยากขึ้น และยาอาจจะต้องปรับไปตลอดชีวิตไม่สามารถที่จะกินยาเท่านี้แล้วอยู่ไปได้ตลอดโดยไม่ต้องติดตามอะไร เพราะฉะนั้นอย่างน้อยปีหนึ่งต้องมาตรวจติดตาม 3-4 ครั้ง ต้องทำการเจาะเลือดเพื่อหมั่นดูระดับน้ำตาล ระดับไขมัน ดูว่าทานยาได้ตรงตามเวลาหรือเปล่า เพื่อจะได้ปรับยาให้เหมาะสม ยาของคนไข้เบาหวานบางส่วนจึงไม่คงที่

ปัจจุบัน เรามีการรักษาครบตามมาตรฐานนะ คือการเจาะเลือดวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นเบาหวานจริง ๆ มีการตรวจเลือดได้ครบทุกอย่างเพื่อประเมิน แล้วก็ได้มีการอธิบายคนไข้ให้เข้าใจ ว่าทำไมถึงเป็นโรคเบาหวานความสำคัญในการรักษา การปรับการรักษา รวมทั้งเมื่อมีการรักษาไปแล้วเรามีการตรวจภาวะแทรกซ้อนให้ครบตามมาตรฐานการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจอประสาทตา ตรวจเท้าเพื่อดูว่ามีภาวะปลายประสาทเสื่อม หรือตรวจปัสสาวะว่ามีภาวะไตเสื่อมหรือไม่ ในกรณีที่มีอาการสงสัยโรคหัวใจก็สามารถส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจได้


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

เบาหวานควบคุมได้ เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

สำหรับผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราสามารถเริ่มจากการสำรวจความเสี่ยงของตนเองก่อนว่า เรามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากแค่ไหน จากกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้

  • ประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • น้ำหนักเกิน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • หรือมีอาการอื่นที่สงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ควรมาตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าตรวจพบจะได้เริ่มทำการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกได้โดยที่ยังไม่ต้องรอให้มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อน และในผู้ที่ยังไม่ตรวจพบว่าเป็น แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้ จะได้วางแผนป้องกัน ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรคเบาหวานขึ้นมา

สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วถ้าเป็นช่วงต้น ๆ ก็ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องนะครับ ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะว่าถ้าผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลได้ดี ออกกำลังกายคุมอาหารได้ดี การรักษาก็จะง่าย ในระยะยาวก็จะไม่เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่

  • เส้นเลือดหัวใจตีบ
  • เส้นเลือดในสมองตีบ
  • เบาวานขึ้นตา อาจทำให้ตาบอดได้
  • ไตวาย
  • เส้นประสาทปลายเท้าเสื่อม

ส่วนคนที่เกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว เช่น เส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ ก็ควรเข้ารับการรักษาและควบคุมให้ดีเหมือนกันเพราะเราไม่ต้องการให้เกิดซ้ำ เพราะฉะนั้นควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง “เพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ต้องติดตามและรักษากันไปตลอดชีวิตนะครับ วินัยในการรักษาและความร่วมมือของผู้ป่วยถือว่าสำคัญมากครับ”


“รพ.สุขุมวิท ตอนนี้เรามีทุกอย่างครบแล้วนะครับ และเราก็พยายามติดตามยาใหม่ ๆ มาตรฐานการรักษาใหม่ ๆ ที่ออกมาเพื่อนำมาใช้ หากพบว่าการรักษาไหนมีประโยชน์ได้รับการรับรองในมาตรฐานการรักษา มีการตีพิมพ์ข้อมูลออกมา มีผลการวิจัยยืนยันได้รับการับรองจากองค์กรเบาหวานหลัก ๆ ทั่วโลก เราก็พร้อมที่จะนำนวัตกรรมหรือยาตัวนั้น ๆ เข้ามาใช้ และในส่วนของการรักษาทางเราก็มีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง”



นพ.สธน ชมภูพันธุ์
นพ.สธน ชมภูพันธุ์
แพทย์อายุรกรรมโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ