ปวดหลังเรื้อรัง รักษาไม่หาย “ข้อต่อกระดูกเชิงกรานด้านหลัง” คือสาเหตุ รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

ปวดหลัง

ปวดบริเวณเอวด้านหลังเรื้อรัง รักษาไม่หาย อาจมีปัญหา“ข้อต่อเชิงกรานบริเวณสะโพก” รักษาได้โดไม่ต้องผ่าตัด

“...ข้อต่อเชิงกรานของเรามี 2 ส่วน คือส่วนหน้าและส่วนหลัง โดยกระดูกสันหลังของเราจะมีส่วนที่เป็นบริเวณคอ หน้าอก เอว ลงไปถึงส่วนที่เป็นกระดูกกระเบนเหน็บต่อกับบริเวณก้นกบด้านหลัง ซึ่งตรงบริเวณด้านหลังส่วนที่ต่ำลงกว่ากระดูกเอวจะมีกระดูกเชิงกรานมาประกอบเชื่อมกันเป็นข้อทั้งด้านหลังและด้านหน้า โดยด้านหน้ากระดูกเชิงกรานก็ต่อเนื่องกับส่วนที่เราเรียกว่ากระดูกหัวหน่าวนั่นเอง สำหรับกระดูกเชิงกรานจะมีหน้าที่รับแรงจากกระดูกสันหลังไปถ่ายทอดลงไปที่ข้อสะโพกและลงไปที่ขา 2 ข้างให้เราสามารถเดิน ยืน หรือนั่งได้ คือช่วยในการทรงตัวนั่นเอง...”

อาการปวดหลังที่เกี่ยวเนื่องกับข้อต่อกระดูกเชิงกรานด้านหลัง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุอย่างน้อยก็ 3 กรณี ๆ

แรกคือเกิดจากอุบัติเหตุ โดยที่ผู้ป่วยอาจมีประวัติเคยหกล้มก้นกระแทกพื้น หรือเจออุบัติเหตุทางรถถึงขั้นที่บริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังเกิดมีการแตก อ้า หรืออักเสบมาก่อนโดยสามารถส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังได้ในอนาคต แม้ว่าจริง ๆ แล้วข้อต่อเชิงกรานส่วนใหญ่จะมีความแข็งแรง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มข้อต่อหรือมีการโยกต่าง ๆ ขึ้นมาก็จะทำให้ปวดได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณผู้หญิง ซึ่งหากเคยประสบอุบัติเหตุในขณะตั้งครรภ์ใกล้คลอด ซึ่งปกติแล้วเชิงกรานจะมีการขยายตัวก็จะทำให้เกิดการปวดได้เช่นกัน

ส่วนในกรณีที่ 2 จะเกิดจากการอักเสบของตัวข้อต่อเองอันเป็นผลจากโรคต่าง ๆ ที่จะเป็นผลให้เกิดอาการอักเสบที่บริเวณข้อต่อเชิงกราน เช่นโรคที่เรียกกันว่า AS หรือโรคการอักเสบของกระดูกสันหลังและกระดูกข้อต่อเชิงกรานนั่นเอง ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Ankylosing Spondylosis โดยที่ผู้ป่วยเหล่านี้จะเกิดการอักเสบข้อต่อกระดูกสันหลังเป็นข้อ ๆ รวมไปทั้งในส่วนของข้อต่อกระดูกเชิงกรานด้านหลังด้วย นอกจากนี้โรคการอักเสบของข้อบางอย่างก็สามารถเกี่ยวพันไปถึงบริเวณนี้ได้เช่นกัน เช่นกลุ่มโรครูมาตอยด์, กลุ่มโรค SLE ที่มีผลให้เกิดข้อต่อเชิงกรานอักเสบได้...

ส่วนในกรณีที่ 3 คือผู้ที่ต้องใช้งานบริเวณสะโพกค่อนข้างมากย่างเช่นการแบกของหนักจะส่งผลให้กระดูกข้อต่อเชิงกรานอักเสบในอนาคตหรือเกิดการอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน...

รักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าได้ประโยชน์

“... วิธีรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 ประการ ประการแรกคือรักษาตามโรคของผู้ป่วย อย่างเช่นผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE โรครูมาตอยด์ ก็ต้องรักษาตามโรคนั้น อีกประการคือรักษาตามอาการของการปวด คือรักษาตรงบริเวณที่เป็นข้อต่อเชิงกรานโดยระยะแรกอาจจะให้รับประทานยา ลดการยืน การนั่งนาน ๆ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจให้ทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติม ซึ่งในรายที่ได้ผ่านการรักษา 2 อย่างนี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติมด้วยการฉีดยา หรือการทำ SI Joint block ซึ่งก็คือการฉีดยาไปที่ข้อต่อด้านหลังเพื่อลดการอักเสบ ซึ่งวิธีนี้มิใช่การฉีดยาแบบปกติแต่จะต้องใช้เครื่องเอ็กซเรย์เพื่อให้เห็นตำแหน่งที่เป็นปัญหาได้อย่างชัดเจนก่อนที่จะฉีดยาเข้าไป และเป็นวิธีรักษาที่ลดอาการอักเสบได้วิธีหนึ่ง แต่หากผู้ป่วยยังมีอาการมากขึ้นแม้ว่าจะได้ฉีดยารักษาแล้วก็ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ละก็ ปัจจุบันจะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดเพื่อยึดข้อกระดูกเชิงกรานด้วยสกรูและน็อตพิเศษเพื่อยึดข้อต่อนั้นไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ เพื่อไม่ให้มีการขยับ และช่วยให้อาการอักเสบลดลง ซึ่งจะใช้เฉพาะในรายที่มีอาการอักเสบเรื้อรังมาก ๆ และไม่ตอบสนองต่อการฉีดยาขณะที่การผ่าตัดไม่ได้ยุ่งยากมาก โดยใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็กและใช้เอ็กซเรย์มาช่วยดูตำแหน่งที่ผ่าตัดเพื่อให้เกิดความแม่นยำและส่งผลให้ผู้ป่วยหายดี กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ...”



นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส

นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์โรคกระดูกสันหลัง
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111