นิ่วในถุงน้ำดี อย่าละเลย อันตรายถึงชีวิต

นิ่วในถุงน้ำดี


“นิ่วในถุงน้ำดี” หนึ่งในโรคระบบทางเดินอาหารที่สามารถเกิดได้กับทุกคนและเป็นอันตรายหากปล่อยทิ้งไว้นาน เนื่องจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีมักไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น หรือหากมีอาการ ในระยะแรกอาจคล้ายคลึงกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิดและซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ไปพบแพทย์ เมื่อปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาจเกิดการติดเชื้อในช่องท้องจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งหลาย ๆ คนมักตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีจากการตรวจสุขภาพประจำทุกปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ

ดังนั้น การตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเป็นประจำ ช่วยให้เราตรวจเจอความผิดปกติของร่างกายได้ก่อนแสดงอาการ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

“ถุงน้ำดี” มีหน้าที่อะไร?

ถุงน้ำดี (Gallbladder) คือ อวัยวะที่อยู่ในบริเวณช่องท้อง มีลักษณะเป็นกระเปาะ ทำหน้าที่เป็นที่พักหรือที่กักเก็บน้ำดีที่ถูกผลิตจากตับ ก่อนส่งต่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็กเพื่อทำหน้าย่อยไขมัน

ทำความรู้จัก “โรคนิ่วในถุงน้ำดี”

นิ่วในถุงน้ำดี หรือ Gall Stone เกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลภายในถุงน้ำดี และก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และมีจำนวนก้อนนิ่วเกิดได้มากนับร้อยก้อนอุดตันอยู่ในถุงน้ำดี ซึ่งนิ่วในถุงน้ำดี สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • นิ่วที่เกิดจากคอเรสเตอรอล (Cholesterol Stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 80 เกิดจากการที่มีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว
  • นิ่วที่เกิดจากเม็ดสีบิลิรูบิน (pigment Stones) เป็นชนิดที่มีสีคล้ำและขนาดเล็กกว่านิ่วที่เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง หรือผู้ที่มีภาวะผิดปกติของเลือด เช่น ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง

อาการแบบไหน บ่งบอกได้ว่าเป็น “นิ่วในถุงน้ำดี”

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคระบบทางเดินทางอาหารที่มักไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน หากไม่ได้เกิดการอักเสบอย่างเฉียบพลันหรือมีการติดเชื้อในช่องท้อง มักตรวจพบในผู้ที่มีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด แต่เราสามารถสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายที่อาจเป็นสัญญานเตือนของโรคนี้ได้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี มักมีอาการ

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
  • แสบร้อนกลางอก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ชายโครงขวา
  • ในบางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น ร่วมกับมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

อาการที่ควรรีบมาพบแพทย์

ในรายที่เกิดถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) จะมีอาการปวดท้องรุนแรง จุกเสียดแน่นท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ปวดมากเวลาหายใจเข้าลึกๆ หากมีอาการมากจะมีภาวะดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลืองร่วมด้วย หากเกิดถุงน้ำดีแตกทะลุจะมีอาการหนาวสั่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็ง ปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น “นิ่วในถุงน้ำดี” ?

อย่างที่เราทราบกันแล้วว่า “นิ่วในถุงน้ำดีที่เกิดจากคอเรสเตอรอล” เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด นั่นอาจบ่งบอกได้ว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราอาจเป็นหนึ่งในสิ่งกระตุ้นของการเกิดโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะอ้วน เพราะมีปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก ได้แก่

  • เพศและอายุ โรคนิ่วในถุงน้ำดีมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบได้ในบ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือด
  • ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผบต่อการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี
  • ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง

ผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดี แผลเล็ก หายไว ไร้กังวล

หากคุณมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือสงสัยว่าตนเองมีอาการอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนิ่วในถุงน้ำดี ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา โรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถทำการตรวจวินิจฉัยได้โดยการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนเพื่อดูว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ หากตรวจพบก้อนนิ่ว สามารถทำการรักษาได้โดยการผ่าตัดทั้งแบบเปิดหน้าท้องและผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องนั้น แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่การอักเสบมาก ถุงน้ำดีแตก หรือมีการติดเชื้อในช่องท้อง

การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบผ่านกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)

โดยแพทย์จะทำการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านบริเวณสะดือและชายโครงขวา มีแผลขนาดเล็กเพียง 0.5 ซม. เพื่อทำการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว กลับบ้านภายใน 1-2 วัน แต่หากปล่อยไว้ให้เกิดการอักเสบมากนานหลายวัน อาจส่งผลให้ยากต่อการรักษา เมื่อเกิดอาการผิดปกติ ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจไม่สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องได้

ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นวิธีการรักษาที่ได้มาตราฐานและเป็นที่ยอมรับ ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัววัย และลดความเสี่ยงการติดเชื้อหลังผ่าตัด



นพ.ปัญญา วงศ์จินดาพรรณ
นพ.ปัญญา วงศ์จินดาพรรณ
แพทย์ศัลยกรรมทั่วไป




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: