โรคประจำถิ่นและการแพร่ระบาด ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน


Omicron

ชั่วโมงนี้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำถิ่นเป็นเรื่องที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ แต่สำหรับคำว่าโรคประจำถิ่นแล้ว แพทย์หญิงณัฐวรรณ พละวุฑิโฒทัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมโรคติดเชื้อ ประจำโรงพยาบาลสุขุมวิท จะมาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อไขความกระจ่างเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น และการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมากยิ่งขึ้น

โรคประจำถิ่นคืออะไร

เป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้นๆ ตัวเชื้อก่อโรคลดความรุนแรง ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตต่ำ มีอัตราป่วยคงที่ และสามารถคาดการณ์การแพร่กระจายเชื้อได้ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

โควิดสายพันธุ์โอมิครอน คืออะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ทำให้เราได้มารู้จักโรคประจำถิ่น ก็คือการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยสายพันธุ์นี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสหลายตำแหน่ง ทั้งในส่วนของโปรตีนหนามแหลม (Spike Protein) และส่วนตัวรับ (Receptor-binding Domain) ซึ่งไวรัสใช้เกาะกับเซลล์ของคนเรา ถูกรายงานเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน จากประเทศแอฟริกาใต้ จนปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่สายพันธุ์เดลต้าในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งผลจากการกลายพันธุ์ของโปรตีนในตำแหน่งดังกล่าวของไวรัสจะส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง นอกจากนี้กลไกการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ยังแตกต่างไปโดยใช้วิธี Endocytosis จากเดิมที่อาศัยตัวรับร่วม TMPRSS2 บนผิวเซลล์ทำให้แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น มีระยะฟักตัวสั้นเพียง 1-3 วัน อาการไม่ต่างกับเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้ามากนัก โดยจะมีอาการไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แต่จะไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับกลิ่นหรือรับรส

โดยรวมพบว่าอาการของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนั้นไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการออกมาเผยข้อมูลว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในระลอกนี้ ประเทศไทยมีการติดเชื้อสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงซึ่งอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ เนื่องจากตัวเชื้อมีความรุนแรงลดลง ประกอบกับประชากรในประเทศให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนมากขึ้นด้วยนั่นเอง

โควิดสายพันธุ์โอมิครอน สามารถติดได้อย่างไร หรือติดทางไหนได้บ้าง และแตกต่างจากการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อื่นๆ อย่างไร

เชื้อโควิด 19 แพร่ผ่านทางละอองฝอยน้ำมูกน้ำลาย และยังแพร่ทางการหายใจได้ (Airborne Transmission) เพราะเชื้อโตได้ดีมากในเซลล์ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น (Human Airway Epithelium) เช่น จมูก ลำคอ และหลอดลม แต่กลับพบในเซลล์ถุงลมปอด (Alveolar Epithelium) น้อยกว่า จึงเป็นสมมุติฐานที่ว่าการระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้แพร่ไปได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่พบอาการปอดอักเสบน้อยกว่า

คนที่เคยติดโควิดสายพันธุ์อื่นแล้ว สามารถกลับมาติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้อีกหรือไม่ หรือหากติดสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว จะสามารถติดสายพันธุ์อื่นได้อีกหรือไม่

คนที่เคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ สามารถติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนซ้ำได้เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ เช่นเดียวกันกับหากติดสายพันธุ์โอมิครอนแล้วก็อาจติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ แต่ในกรณีที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนหน้าแล้วติดเชื้อโอมิครอน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในภายหลังสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ ดังนั้นการหยุดยั้งการระบาดของทั้งสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึง

วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อรู้ว่าเป็นโควิดสายพันธุ์นี้

เมื่อรู้สึกไม่สบาย เช่น มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก แนะนำให้แยกตัวจากผู้อื่น และในเบื้องต้นให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง หรือไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากผลตรวจพบเชื้อจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

วิธีการป้องกันตัวเอง จากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เป็นสถานที่แออัด หรือไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือมีการเปิดหน้ากากอนามัย และหากเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้เวลาในพื้นที่นั้นให้สั้นที่สุด ควรสวมหน้ากากอนามัยเสมอ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือสบู่บ่อยๆ หลังสัมผัสกับอุปกรณ์สาธารณะที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น

การฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ช่วยได้อย่างไรบ้าง

การฉีดวัคซีน ยังคงช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่เมื่อผ่านไปตามเวลาระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงไปด้วย ดังนั้นปัจจุบันมีข้อมูลการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ซึ่งจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในมติที่ประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค



พญ. ณัฐวรรณ พละวุฑิโฒทัย

พญ. ณัฐวรรณ พละวุฑิโฒทัย
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมโรคติดเชื้อ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน โทร. 02-391-0011

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: