อากาศมีความสำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ และโรคต่างๆ


ฝนตก

ในฤดูต่างกัน จะมีความแตกต่างของอุณหภูมิและความชื้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว สภาพร่างกายในช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้น อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย

โรคที่มักจะพบในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวมีโรคอะไรบ้าง

เนื่องจากฤดูฝนมีปริมาณน้ำฝนและความชื้นมากกว่าฤดูอื่นๆ โรคที่แพร่ระบาดได้ง่ายในฤดูฝนมักจะเกิดจากความชื้นและโรคที่มากับน้ำขัง หรือพาหะนำโรคที่มากับน้ำ โดยแบ่งเป็นกลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคคออักเสบ ต่อมทอลซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ
  2. กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบ
  3. กลุ่มโรคที่ติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง เช่น ไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส
  4. กลุ่มโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ไข้เลือดออก พาหะนำโรคคือยุงลาย ไข้สมองอักเสบ พาหะนำโรค คือยุงรำคาญ และไข้มาลาเรีย พาหะนำโรค คือยุงก้นปล่อง
  5. กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง จากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันจากไวรัส Influenza virus สามารถแพร่กระจายได้ทั่วโลก ติดต่อได้ง่าย เป็นได้กับทุกเพศทุกวัย มีการติดต่อผ่านทางการหายใจและได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เมื่อผู้ป่วยไอ จาม พูด สัมผัสฝอยละอองน้ำมูกหรือน้ำลาย ระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน อาการของไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก ไอ มีน้ามูก เจ็บคอ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน คือ ปอดอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน, ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป, กลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกิน, หญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3, กลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี

ไข้หวัด

วิธีการป้องกันโรคต่างๆ ในหน้าฝน

  • สวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่น ไม่ควรตากฝน หากตัวเปียกให้รีบอาบน้ำและเช็ดตัวให้แห้ง ทำร่างกายให้อบอุ่น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดี
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุกใหม่ สะอาด ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำขังเป็นเวลานาน ทำความสะอาดเท้าและรองเท้าทุกครั้งที่สัมผัสน้ำขัง
  • ทำความสะอาดบริเวณบ้าน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย อย่าให้มีน้ำขัง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง

นพ. รวิ เรืองศรี

นพ. รวิ เรืองศรี
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์อายุรกรรม
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: