Stroke Fast Track - การรักษาเส้นเลือดในสมองอุดตันที่ต้องแข่งกับเวลา

Stroke เส้นเลือดในสมองอุดตัน

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองอุดตันที่ต้องเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต คุณภาพชีวิตแย่ลงในพริบตาเกิดขึ้นมากมาย เพียงเพราะไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

Stroke Fast Track คืออะไร?

นี่คือกระบวนการในการที่จะรักษาคนไข้เส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันที่มีโอกาสรอด ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้มากที่สุด พญ.จักษณี วรนุชกุล เล่าว่า “หลังจากที่คนไข้มาถึง เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ถ้าเป็นกรณีที่เส้นเลือดตีบ เราจะพยายามเก็บรักษาเซลล์สมองที่ยังพอใช้งานได้ให้ได้มากที่สุด โดยระยะเวลาที่คนไข้เป็นมาก่อนที่จะถึงโรงพยาบาลนั้นสำคัญมาก”

โรคนี้ “ไม่มีสัญญาณเตือน”

พญ.จักษณี กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว โรคหลอดเลือดทุกอย่างค่อนข้างเฉียบพลัน มีโอกาสน้อยมากที่จะมีสัญญาณเตือนมาก่อน เป็นหวัดอาจมีอาการปวดเมื่อยตัวนำมาก่อน แต่เส้นเลือดอุดตันนี้ไม่มี แต่อาการของผู้ป่วย Stroke ที่เกิดขึ้นที่สังเกตง่าย ๆ คือ FAST: Face = อาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว, Arm = แขนขาอ่อนแรง, Speech = พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง สื่อสารลำบาก, Time = โรคนี้สำคัญที่เวลา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่มีอาการให้รีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และคนไข้ที่เป็นเส้นเลือดในสมองตีบทุกคน ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะบางทีเริ่มจากเป็นน้อย ถ้าปล่อยไว้ก็เป็นมากได้

ทำไม “เวลา” จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ตามขั้นตอนการรักษาปกติ การให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้าม ควรทำภายในสามถึงสี่ชั่วโมงครึ่ง การให้ยาละลายลิ่มเลือดเป็นมาตรฐานในการที่จะทำให้หลอดเลือดเปิด และอาการอ่อนแรงทั้งหมดก็จะดีขึ้น 70-80% เพราะเราเชื่อว่าการละลายลิ่มเลือดหรือการเอาเลือดออกได้ เป็นทางที่ดีที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตหรือไม่เป็นมากขึ้น

แต่ถ้าในเคสที่เกิดสี่ชั่วโมงครึ่งไปแล้ว พญ.จักษณีย้ำว่า “ควรต้องรีบมารักษา เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะพลาดโอกาสในการให้ยาละลายลิ่มเลือด ที่เป็นการรักษาหลักแล้ว แต่ยังมีการรักษารอง เช่น การเอาลิ่มเลือดออกหรือลาก Clot ให้ยาต้านเกล็ดเลือด ที่สามารถทำการรักษาได้”

การรักษาแบบลาก Clot

เมื่อให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วหลอดเลือดไม่เปิด หรือมีข้อห้ามในการให้ยา เช่น ผู้ป่วยทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่แล้ว การให้ยาซ้ำ ก็ไม่มีประโยชน์ หรือคนที่มีความดันสูงมาก ๆ ก็ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ นั่นทำให้การรักษาต้องเปลี่ยนไปที่การลาก Clot แทน ซึ่งเป็นวิธีการเอาลิ่มเลือดออกด้วยการทำหัตถการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยใส่สายสวนเข้าไปที่ต้นขา ขึ้นไปที่สมอง ฉีดสีทีละเส้น เมื่อพบว่ามีการอุดตันจริงก็จะใส่ขดลวดแบบตะกร้าเข้าไป เมื่อถึงตำแหน่งที่มีลิ่มเลือด ขดลวดก็จะกางออกเป็นตาข่ายตะแกรงให้เลือดจับแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา ซึ่งถ้าผลสำเร็จคุณหมอบอกว่าก็เทียบเท่ากับการให้ยาละลายลิ่มเลือดเลย หรือในบางรายอาจดีกว่าด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ด้วยจำนวนของบุคลากรแพทย์ผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้มีจำกัด และอุปกรณ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หัตถการนี้ไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล จะมีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น




แพทย์หญิงจักษณี วรนุชกุล
แพมย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท