วัยทอง คำนิยามของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

ในช่วงชีวิตของสตรีตั้งแต่เกิด จะมีความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่สำคัญหลายครั้ง วัยทองเป็นวัยหนึ่งซึ่งมีความสำคัญที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแล เพื่อคงคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สตรีมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ สตรีวัยนี้เป็นวัยที่มีศักยภาพมากทั้งทางด้านครอบครัว การงาน และสังคม

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น

ตามธรรมชาติของสตรีวัยทอง เริ่มต้นในช่วงอายุประมาณ 45-50 ปี คือ การค่อยๆ หยุดการทำงานของรังไข่ในการสร้างฮอร์โมนเพศ มีผลทำให้ประจำเดือนที่เคยมีมาทุกเดือนหมดไป ถ้าหมดไปติดต่อกัน 1 ปี ก็จะเรียกว่าหมดประจำเดือน (Menopause) ซึ่งส่งผลกระทบตามมามากมาย

ผลกระทบที่สำคัญแบ่งเป็น

การไม่สามารถมีบุตร เกิดจากการหยุดสร้างไข่ของรังไข่ ผู้ที่อยู่ในวัยทองจึงไม่มีบุตร ซึ่งถ้าต้องการมีบุตรจำเป็นต้องรับบริจาคไข่ ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และราคาแพง

อาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศ แบ่งเป็น

  • อาการทั่วไปที่พบ ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ปวดเมื่อย อ่อนล้า หลงลืม ขาดสมาธิ
  • อาการอื่นๆ ได้แก่ ช่องคลอดแห้ง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีปัสสาวะเล็ดราด มีอาการเจ็บแสบเวลามีเพศสัมพันธ์ ผิวพรรณเหี่ยวย่น ผมร่วง เล็บเปราะ

การรักษามีทั้งการใช้ฮอร์โมน และใช้ยาบรรเทาอาการ ซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญ

โรค / ความผิดปกติที่เกิดตามมาหลังเข้าสู่วัยทอง ได้แก่ โรคกระดูกพรุน ระดับไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกระดูกหัก และโรคหัวใจขาดเลือด ในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือน ซึ่งสามารถรับคำปรึกษาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าวจากสูติ-นรีแพทย์ได้

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าว

ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยทอง ควรปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ได้แก่

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียมสูง ไขมันต่ำ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนเพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบาน มีสมาธิ
  • ตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ

ปัจจุบันมีการดูแลรักษาอาการเนื่องจากวัยทองได้ด้วยฮอร์โมนทดแทน ซึ่งถ้ามีข้อบ่งชี้และไม่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน ก็สามารถรับการรักษาได้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากสูติ-นรีแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ฮอร์โมน แต่ถ้ามีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน ก็สามารถรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว รวมทั้งยารักษาที่ไม่ใช้ฮอร์โมนได้ด้วย เพียงเท่านี้สตรีวัยทองก็สามารถมีสุขภาพกาย และใจที่แข็งแรงแจ่มใส่ไปได้อีกนานค่ะ

เรียบเรียงโดย : พญ.รัชนิกร เสิศวรวณิช
ศูนย์ : สูติ-นรีเวช
ปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ : 02-391-0011

VAR_INCL_CK