ปวดคอ - ปวดไหล่

ปวดคอ

       ลำคอเป็นอวัยวะที่ต้องแบกรับน้ำหนักของศีรษะไว้ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเวลาเข้านอน
       ลำคอมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด จึงมักเป็นจุดอ่อนที่จะเกิดอันตรายกับกระดูกคอได้ง่าย

สาเหตุของอาการปวดคอ

สาเหตุของอาการปวดคอมักเกิดจากอริยาบถที่ผิดสุขลักษณะในชีวิตประจำวัน อาทิ

  • นอนคว่ำเป็นประจำ นอนหมอนสูงเกินไป การสลัดคอ สลัดผม หรือใช้คอกับไหล่หนีบโทรศัพท์ เล่นดนตรีที่ จะต้องวางบนบ่าและใช้คอยันไว้
  • งานที่ต้องเกร็งไหล่ทั้งสองข้าง หรือก้มๆ เงยๆ บ่อย เช่น เย็บผ้า พิมพ์ดีด ใช้คอมพิวเตอร์
  • นั่งทำงานกับโต๊ะ เก้าอี้ที่ไม่ได้สัดส่วน
  • การนั่งหลับ หรือนั่งสัปปะหงก
  • อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของคอทันที เช่น รถชนท้าย ตกจักรยานยนต์ หกล้ม
  • การเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น ภาวะข้อเสื่อม โรครูมาตอยด์ เป็นต้น

อาการปวดคอ

ปวดเมื่อยต้นคอ คอเคล็ด เอี้ยวคอไม่ถนัด อาจเจ็บเป็นๆ ทายๆ อาจมีอาการตั้งแต่น้อยถึงมากได้ ต่อมาจะมีอาการปวดร้าวลงบ่า ลงแขนและสบัก (สบักจม) มีอาการปวดร้าวที่ปลายแขนศอก บางทีมีอาการคล้ายข้อมือซ้น มืออ่อนแรง หยิบของมักตกบ่อยๆ หรือจับปากกาไม่ค่อยอยู่ อาจเจ็บโคนนิ้วหัวแม่มือ ชาที่นิ้วมือ ข้อมือและแขน ต่อมาจะเจ็บหัวไหล่เวลานอนตะแคง กล้ามเนื้อและหน้าอกข้างนั้นจะค่อยๆ ลีบลง ไหล่ติด ยกแขนหรือเกาหลังไม่ได้ หากทิ้งไว้จนเป็นมากขึ้นจะปวดศีรษะข้างเดียว หรือปวดทั้งศีรษะ ลมออกหู หายใจไม่เต็มอิ่มอาจมีอาการ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

การรักษาและการป้องกัน

  • ใช้หมอนที่เหมาะสมหนุนบริเวณต้นคอ ไม่หนุนบริเวณศีรษะหรือใช้หมอนที่แข็งหรือสูงเกินไปจนทำให้ศีรษะกระดกขึ้น หมอนหนุนที่ถูกต้องจะรองบริเวณก้านคอ เมื่อนอนหงายกลางหมอนคอจะเป็นรูปสะพานโค้ง และคอจะขนานกับพื้นเวลานอนตะแคง หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกใช้หมอนที่เหมาะสมกับตนเอง เพราะลำคอ รูปศีรษะ และความหนาของลำตัวแต่ละคนไม่เท่ากัน
  • ไม่ควรนอนคว่ำเป็นประจำเพราะจะทำให้ลำคอบิดผิดท่าและเกิดปวดคอได้
  • ไม่ควรสลัดผมบ่อยๆ (ทรงผมที่ปรกหน้าอาจเป็นสาเหตุของโรคปวดคอได้)
  • ควรใช้โต๊ะทำงานและเก้าอี้ที่ได้สัดส่วนกัน ไม่ต้องก้ม ไม่ทำให้หลังโกง
  • การนั่งรถ ไม่ควรปรับพนักอิงให้เอนเกินไปเพราะลำคอต้องเกร็งอยู่ตลอดเวลา และควรมีที่หนุนที่รองรับ ก้านคอได้พอดี
  • หากทำงานที่ต้องก้มคอเป็นระยะนานๆ เช่น เย็บผ้า เขียนรูป อย่านั่งนานและพยายามเปลี่ยนท่าบ่อยๆ
  • ใช้เครื่องพยุงคอ หรือใช้ม้วนผ้าขนหนูที่หนาและยาวพอที่จะพยุงรับน้ำหนักพันรอบคอไว้เพื่อจำกัดการ เคลื่อนไหวและลดน้ำหนักของศีรษะให้กดลำคอน้อยลง และใส่ให้นานพอให้อาการดีขึ้น
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น ใช้ความร้อนหรือความเย็นประคบบริเวณที่ปวด 15 - 20 นาที แล้วทายาแก้ปวดและนวดเบาๆ เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • บริหารกล้ามเนื้อคอ เมื่ออาการทุเลา จึงเริ่มบริหารกล้ามเนื้อคอ

การบริหารกล้ามเนื้อคอและไหล่เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และทุเลาอาการปวด

การบริหารในท่านี้ควรเริ่มต้นทำที่หน้ากระจก โดยใช้แรงน้อยๆ ก่อน เพื่อให้หน้าตรง เมื่อชำนาญแล้วจึงสามารถบริหารได้ทุกที่ ไม่ว่าในรถหรือที่ทำงานโดยเพิ่มแรงมากขึ้น โดยบริหารวันละ 3 - 4 รอบ

เรียบเรียงโดย :
ศูนย์ : เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ปรึกษาแพทย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู : 02-391-0011

VAR_INCL_CK