ค้นหาสาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจ กับอาการที่ไม่ทันตั้งตัว

คนไข้

ค้นหาสาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจ กับอาการที่ไม่ทันตั้งตัว

ผู้สูงวัย 73 ปี ซึ่งเกิดในเมืองไทยและไปประกอบกิจการส่วนตัวที่อินเดียและเดินทางไป ๆ มา ๆ ที่เมืองไทยทุกปี และทุกครั้งที่อยู่เมืองไทย เป้าหมายอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ “การตรวจเช็คสุขภาพ” ที่โรงพยาบาลสุขุมวิท” จนได้รู้จักคุ้นเคยกับ “นพ.ดาวิน นารูลา”...อดีตผู้อำนวยการ รพ.สุขุมวิท เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อใดที่เกิดความข้องใจสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของตัวเองและครอบครัว “คุณกุลทีป” เป็นต้องต่อสายตรงมาปรึกษาเรื่อยมาและบังเอิญว่าได้เดินทางมาอยู่ในเมืองไทยในช่วงที่เจ้าไวรัส “โควิด-19” กำลังแพร่ระบาดพอดี เลยติดอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถเดินทางไปอินเดียได้ จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งภรรยาได้ชวนไปเดินออกกำลังกาย แต่เดินได้ไม่นานก็รู้สึกว่าร้อนและไม่อยากเดิน แต่พอถึงเย็นถัดมาก็รู้สึกแบบเดิมอีกจึงนั่งพักและรู้สึกเหมือนมีใครมาบีบหัวใจ จุกแน่นข้างในอยู่ราว ๆ 5 นาทีก็หายไปจึงเดินต่อโดยไม่เกิดขึ้นอีก พอวันถัดไปก็เกิดอาการเดียวกันอีกระหว่างออกไปเดิน จึงได้โทรศัพท์ไปปรึกษากับ “คุณหมอดาวิน” ซึ่งได้รับคำแนะนำให้ไปรับการตรวจเช็คที่ “รพ.สุขุมวิท” ในวันรุ่งขึ้นและได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ ECG โดย “นพ.นิวิธ กาลรา...แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ และหลอดเลือด” ประจำศูนย์โรคหัวใจ “รพ.สุขุมวิท” และได้รับการแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยเหตุที่ข้องใจในอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นและยังมีอยู่ โดยได้ให้เข้าทดสอบด้วยการเดินบนสายพานและผ่านไปไม่ถึง 1 นาทีเครื่องก็แจ้งถึงความผิดปกติที่ชี้ว่าหัวใจขาดเลือด ซึ่งต้องทำการสวนหลอดเลือดหัวใจด้วยการใส่ขดลวด (Stent)เพื่อขยายหลอดเลือดให้เร็วที่สุด และหลังจากได้รับการขยายหลอดเลือดแล้วก็ไม่ปรากฏถึงอาการเหมือนถูกใครบีบหัวใจอีก แม้จะเดินไปเข้าห้องน้ำเองก็ตาม ซึ่งหลังจาก 1 เดือนผ่านไปก็ได้ไปเข้ารับการตรวจติดตามผลเพื่อจะได้ทราบว่ามีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่...และเจ้าตัวได้เผยว่า

“...ผมยกของได้ อะไรก็ดีทุกอย่างทำได้หมดเลย คุณหมอก็บอกว่าหลัง 15 วันก็เริ่มใช้ชีวิตตามปกติได้โดยไม่ต้องกังวล เว้นเฉพาะช่วง 15 วันแรกหลังการรักษาอย่าเพิ่งทำอะไรเด็ดขาด ในขณะที่ทำการสวนหลอดเลือดหัวใจก็ไม่เจ็บเลย วิวัฒนาการการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมากเลยครับ...ไม่คิดเลยว่าจะเป็นโรคหัวใจ รู้สึกตกใจมาก เพราะไม่มีอาการอะไรเตือนมาก่อน อยู่ดีก็เป็น คุณหมอนิวิธและคุณหมอดาวินยังบอกเลยว่าดีที่มาเร็ว ถ้าช้ากว่านี้ก็อาจสายไปก็ได้เพราะโรคหัวใจมันไว้ใจไม่ได้…อีก 4 เดือนผมจะมาทดสอบด้วยการเดินสายพานอีกครั้งเพราะอยากรู้ว่าทุกอย่างจะโอเคหรือเปล่า...”

ภาวะจุกแน่นลิ้นปี่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของ “หัวใจ”

จากการซักประวัติของผู้ป่วยอย่างละเอียดได้ช่วยให้ทราบถึงภาพรวมของผู้ป่วยวัย 73 ปีท่านนี้จึงสรุปได้ว่าที่ผ่านมามีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติดี เข้ารับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ มีระดับความดันโลหิตปกติดี ระดับไขมันในเลือดสูงเล็กน้อยแต่ไม่ได้ทานยาลด...เหตุที่มาโรงพยาบาลก็เพราะเกิดอาการจุกแน่นลิ้นปี่ และแน่นท้อง ทำให้ “คุณหมอนิวิธ” ได้เตรียมการให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารไว้ด้วย เพื่อประเมินภาวะดังกล่าว แต่ระหว่างการตรวจเตรียมความพร้อมก็พบว่ามีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ซึ่งหลังจากที่ “ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าลักษณะคลื่นไฟฟ้าชนิดนี้น่าจะเกิดจาก “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” มากกว่าที่จะมีต้นเหตุจากโรคกระเพาะ จึงได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย จากนั้นจึงได้แนะนำให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการเดินสายพานซึ่งช่วยให้ทราบว่ามีความผิดปกติที่บ่งชี้ได้ว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดค่อนข้างสูง ทำให้ส่งผู้ป่วยเข้ารับการสวนหลอดเลือดหัวใจทันทีและพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ 90% ที่หลอดเลือดแดงด้านหน้าซ้าย LAD ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่เลี้ยงพื้นที่หัวใจมากที่สุด จึงได้ทำการขยายหลอดเลือดและวางขดลวด (Stent) เพื่อค้ำยันและป้องกันไม่ให้หลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำ และหลังจากได้รับการรักษาแล้วอาการจุกแน่นลิ้นปี่ของผู้ป่วยก็หายไป ซึ่งโดยปกติแพทย์จะให้พักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 วันจึงให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านอีก 1 สัปดาห์ โดย “คุณหมอนิวิธ” อธิบายเสริมว่า

“...หลักการของการพักฟื้นของโรคหลอดเลือดหัวใจคือพักผ่อนเฉย ๆ คือ รับประทานอาหารตามปกติ เนื่องจากเราทำการสวนขยายหลอดเลือดที่แขน ดังนั้นเนี่ยคนไข้สามารถเดินเหินได้ตามปกติไม่จำเป็นจะต้องงดการเดินนะครับ แต่ยังไม่ให้ออกกำลังกายหนัก 1 อาทิตย์แรก พอพ้น 1 อาทิตย์เป็นต้นไปแล้วจะให้ผู้ป่วยเริ่มออกกำลังกายได้ครับ…”

"สุขภาพจะดีได้ต้องตรวจร่างกายสม่ำเสมอ...”

ข้อมูลน่าสนใจอีกประเด็นจาก “คุณหมอนิวิธ” คือในปี 2562 พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมแต่อัตราการเสียชีวิตได้ลดลง โดยสาเหตุที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมนั้นได้มีการอนุมานว่าเกิดจากกรณีการใช้ชีวิตของคนในเมืองยุคปัจจุบันจะมีความเร่งรีบในการทำงาน ต้องเผชิญความยุ่งยาก มีการใช้ชีวิตแบบปล่อยปละละเลยมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายลดลง ให้ความสำคัญกับอาหารที่รับประทานลดลง ส่งผลให้พบอุบัติการณ์ของการเกิดโรคที่มากขึ้น...ส่วนสาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงก็เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการรักษาที่ดีขึ้น และสำหรับกรณีของ “คุณกุลทีป” นั้นคุณหมอให้ความเห็นว่า

“...ผมอยากให้ทุกท่านเข้าใจว่าสมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนคืออายุ 70 ปีผมถือว่าอายุยังไม่เยอะ เพียงแต่เราควรให้ความสำคัญกับสุขภาพตัวเองมาก ๆ โดยการ check up สม่ำเสมอ เมื่อใดที่มีอาการไม่ปกติจากเดิมก็ควรจะหาคำตอบให้ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร จะได้ให้การรักษาได้ทันท่วงที เจ็บตัวก็น้อย พักฟื้นสั้นช่วยให้เสียค่าใช้จ่ายไม่มากครับ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดทั้งสุขภาพร่างกายแล้วก็ยังประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยในเวลาเดียวกัน ยุคนี้อายุ 70-80 ปีไม่ได้ถือว่าเยอะเหมือนสมัยก่อนแล้ว เรายังอยากให้มีบุคลากรที่กระฉับกระเฉงทั้งด้านสุขภาพแล้วก็ด้านจิตใจด้วยครับ อีกทั้งการตรวจสุขภาพเช็คสมรรถภาพหัวใจก็ก้าวหน้าขึ้นมาก สามารถช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ อาทิ การตรวจสมมรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพาน เพื่อตรวจดูภาวะหัวใจขณะที่ร่างกายออกแรงอย่างหนักนั้นกล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดและออกซิเจนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ หรือหากท่านใด มีปัจจัยเสี่ยง อาทิ อายุที่เพิ่มขึ้น 45 ปีขึ้นไป หรือมีไขมันในเลือดสูง ความดันสูง มีภาวะเบาหวาน มีประวัติพันธุกรรม สูบบุหรี่ การตรวจหาปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการตรวจ CT Calcium Score นั้นก็จะมีประโยชน์มากในการช่วยประเมินโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และการป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ( Heart Attack) ได้ทันท่วงที เพื่อที่สามารถปรับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคได้ หรือวางแผนแนวทางการรักษาได้ทันการ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวมีความแม่นยำ และปลอดภัยสูงครับ...”



นพ. นิวิธ กาลรา
นพ. นิวิธ กาลรา
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจและหลอดเลือด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์หัวใจ
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 665, 666

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK