ความเครียดส่งผลอย่างไรกับหัวใจ ?


เจ็บหน้าอก

ความเครียดส่งผลอย่างไรกับหัวใจ ?

ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกาย ทั้งภาวะแบบเฉียบพลัน และภาวะเรื้อรัง การรู้ทันความเครียด หรือ หรือผลเสียของความเครียดสะสม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันการเกิดโรคภัยต่างๆ ให้กับร่างกายได้

เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีน และคอร์ติซอลออกมา ซึ่งสารอะดรีนาลีนส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสารคอร์ติซอลมีผลทำให้ร่างกายผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น และตับผลิตคอเรสเตอรอลเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง ซึ่งก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้

หากเกิดความเครียดเป็นประจำ มักส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย อาทิ การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดไขมันหรือคราบตะกรันสะสมในหลอดเลือดหัวใจแทบทั้งสิ้น หากเกิดการอุดตันเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้เกิดการปริแตกของลิ่มเลือดทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ (Heart Attack) นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

การบริหารความเครียดเพื่อป้องกันโรคหัวใจ

  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยทำใหร่างกายจะปล่อยสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งช่วยให้ร่างกายรู้สึกดีสบายตัว ทั้งยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวด อาการซึมเศร้า และความเครียดได้อีกด้วย การออกกำลังกายไม่เพียง แต่ช่วยขจัดความเครียด แต่ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจด้วยการลดความดันโลหิตเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจและช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
  • การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่มีประโยชน์นอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพแล้ว อาหารบางชนิดยังช่วยบำบัดความเครียดให้ร่างกายอีกด้วย อาทิ ชาเขียว อัลมอนด์ ปลาแซลมอล ผักโขม อโวคาโด ดาร์กช็อกโกแลต
  • การนั่งสมาธิ การนั่งกำหนดลมหายใจอยู่กับสมาธิ และการหายใจลึก ๆ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่นความดันโลหิตสูง และช่วยผ่อนคลายจิตใจและร่างกาย
  • หาแนวทางเพื่อบำบัดความเครียดของตนเอง อาทิ การนวดผ่อนคลาย ฟังเพลง ท่องเที่ยว ทำอาหาร หรืออื่นๆ เพื่อลดการเกิดความเครียดที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

หมั่นดูแลสุขภาพหัวใจ

การดูแลสุขภาพและดูแลสุขภาพหัวใจเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้วยังเป็นการดูแลป้องกันสุขภาพหัวใจโดยตรง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ตรวจสุขภาพประจำปี หากเกิดอาการอะไรที่ผิดปกติไปจากเดิมควรรีบปรึกษาแพทย์โรคหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยและป้องกันรักษาได้ทันการ



อ้างอิงจาก:https://www.cardio.com/blog/how-does-stress-affect-your-heart


พญ. ฑิตถา อริยปรีชากุล

พญ. ฑิตถา อริยปรีชากุล
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจและหลอดเลือด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 665, 666

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK