รพ.สุขุมวิท จัดแพทย์เฉพาะทางดูแลสุภาพสตรี รับมือ “ภัยเงียบ” พร้อมศักยภาพตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช

หัวเรื่อง

รพ.สุขุมวิท จัดแพทย์เฉพาะทางดูแลสุภาพสตรี รับมือ“ภัยเงียบ” พร้อมศักยภาพตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช

จากสถิติการพบโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย อันดับ 1 และ อันดับ 2 มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกก็ยังครองแชมป์เช่นเคย ทั้งที่การแพทย์ก้าวหน้าช่วยเรื่องการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคในระยะแรกเริ่ม เพื่อป้องกันรักษาได้ทันการ “รพ.สุขุมวิท” จึงได้จัดแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขา มาถ่ายทอดการดูแลป้องกันสุขภาพให้แก่ท่าน โดย “นพ.อกนิษ ปัญญวรวงษ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านมและมะเร็งเต้านม” เปิดประเด็นด้วยเรื่อง“มะเร็งเต้านม”

มะเร็งเต้านมคือการที่มีเซลล์ที่ผิดปกติของเต้านม ส่วนใหญ่จะเป็นเซลล์ที่เกิดจากท่อน้ำนมที่มีการเติบโตและผิดปกติอยู่ภายใน และไม่ถูกร่างกายกำจัดไป เติบโตกลายเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมา โดยความสำคัญคือมะเร็งเต้านมนั้นสามารถที่จะลุกลามเข้าไปในอวัยวะข้างเคียง อาทิ ในเส้นเลือด ท่อน้ำเหลือง และแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆได้ เช่น ตับ ปอด กระดูก หรือสมองเป็นต้น ซึ่งในส่วนปัจจัยเสี่ยงมีหลายปัจจัยที่สำคัญ อาทิ พันธุกรรมผิดปกติ เช่น ยีน BRCA1/BRCA2 มีความผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ เพศหญิงเสี่ยงมากกว่าเพศชาย อายุที่มากขึ้น อาหาร และยา โดยเฉพาะยาที่มีฮอร์โมนเพศหญิงเป็นต้น

การตรวจคัดกรอง สิ่งสำคัญคือค้นหาระยะแรกเริ่มตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

อาการส่วนใหญ่ที่เจอบ่อยที่สุดคือการคลำได้ก้อนที่เต้านม แต่จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่มีอาการ เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสังเกตถึงความผิดปกติอะไรอยู่กับตัว บางทีอาจมาตรวจเจอตอนมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ดังนั้นกว่าจะคลำเจอก้อนมะเร็งด้วยตัวเองได้ก็แสดงว่ามีขนาดใหญ่พอควรแล้ว ส่วนอาการอื่น ๆ จะมีตั้งแต่เจ็บเต้านม มีแผล ผิวหนังที่เต้านมอักเสบบวมแดง หรือเป็นผิวส้ม เต้านมผิดรูปจากเดิม รวมถึงการมีน้ำออกทางหัวนม หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ ซึ่งล้วนเป็นอาการที่พบได้บ่อยและมีความสัมพันธ์ไปสู่มะเร็งเต้านมได้ แต่ที่สำคัญคือผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีอาการมาก่อนก็มาตรวจเจอตอนที่มาโรงพยาบาล ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจะช่วยให้ตรวจเจอมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและมีโอกาสหายขาดได้สูง ซึ่งการตรวจเจอมะเร็งเต้านมในระยะ 0 - 1 มีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านม เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางด้านเต้านมได้ซักประวัติ ตรวจร่างกายหาข้อมูลปัจจัยเสี่ยงพร้อมการตรวจด้วยเมมโมแกรมที่ใช้รังสีในปริมาณน้อย สามารถเห็นสิ่งผิดปกติในเต้านมโดยเฉพาะหินปูนหรือแคลเซียมขนาดเล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการที่อาจเป็นมะเร็งได้ ร่วมกับการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ โดยสามารถเห็นถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อที่เต้านมขนาดเล็กที่อาจเป็นมะเร็ง ทั้งนี้จะเห็นว่าเทคโนโลยีการแพทย์พัฒนาไปมากการใช้ Digital mammogram ซึ่งมีความละเอียดสูง ช่วยให้เห็นรอยโรคขนาดเล็กรวมถึงการขยายดู ได้อย่างชัดเจนช่วยให้เกิดความถูกต้องแม่นยำ รวมถึงการรักษาผู้ป่วยให้ตรงจุดทันท่วงที ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมมีความก้าวหน้ามาก นอกจากจะให้ผลการรักษาที่ดีแล้ว ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย มีการผ่าตัดแบบเก็บรักษาเต้านมถึงแม้เป็นมะเร็งก็ยังมีเต้านมได้ หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกก็สามารถเสริมเต้านมได้ในครั้งเดียวพร้อมกับการผ่าตัดมะเร็ง รวมทั้งในผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนก็สามารถผ่าตัดแก้ไขเต้านมหย่อนทั้งสองข้างในครั้งเดียวกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านม หรือที่เรียกว่า “Oncoplastic Breast Surgery”

มะเร็งเต้านม

มะเร็งปากมดลูกภัยเงียบอันดับ 2 สุภาพสตรีไทย ทั้งที่ตรวจคัดกรองป้องกันได้

“พญ.นันทิวดี มาเมือง แพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช ประจำ “รพ.สุขุมวิท” กล่าวถึง“มะเร็งปากมดลูก” พบได้มากในสุภาพสตรีไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ โดยการฉีดวัคซีน (HPV Vaccine) ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งระยะแรกเริ่ม ก็รักษาให้หายขาดได้...มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งหลังจากติดเชื้อชนิดนี้แล้วจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ถึง 10 ปีเศษกว่าจะก่อโรคที่ทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะฉะนั้นหากคุณผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วตรวจพบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกและติดเชื้อตัวนี้ก็จะช่วยให้รักษาและป้องกันก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะต่อไปสำหรับปัจจัยเสี่ยง ที่พบบ่อยจะมีสาเหตุได้จากการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือการที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคนก็มีส่วนทำให้ติดเชื้อ HPV ได้...ขณะที่ในบางรายอาจมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน หรือในคนที่เป็นโรคที่ทำให้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกรวมทั้งคนที่มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เช่นหนองใน ซิฟิลิส...อาการสำคัญที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่สังเกตได้จากการมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเหตุที่มีเลือดออกก็เพราะปากมดลูกเริ่มมีแผล โดยที่บางคนอาจมีเลือดออกกระปริดกระปอย หรือมีเลือดออกมากผิดปกติหลังมีเพศสัมพันธ์...อีกกรณีคือมีตกขาวที่ผิดปกติโดยอาจมีสีเหลืองสีเขียวหรือว่ามีเลือดปน หรืออาจมีเลือดออกกระปริดกระปอยตลอดระหว่างมีรอบเดือน จึงต้องสงสัยว่ามีอะไรผิดปกติบริเวณปากมดลูกหรือในช่องคลอดหรือไม่ และอาจตรวจอัลตราซาวน์เพิ่มเติมเพื่อดูโรคอื่นๆ ทางนรีเวช เช่น เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่เป็นต้น

ปากมดลุก

คาถาเพื่อป้องกันโรคคือ...ตรวจสุขภาพประจำปี

ปิดท้ายด้วยคำแนะนำจาก “พญ.พรพิมล คชประเสริฐ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป” เป้าหมายการตรวจสุขภาพประจำปีคือค้นหา “ปัจจัยเสี่ยง” หรือ “ภาวะผิดปกติที่ซ่อนอยู่” ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันหรือการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เช่น การรับวัคซีนป้องกันโรค “ไวรัสตับอักเสบบี” หรือ “โรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ประจำปี” เป็นต้น ในการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพควรงดอาหารประมาณ 8-12 ชม.ก่อนการเจาะเลือดโดยสามารถดื่มน้ำเปล่าได้ จากนั้นคุณหมอจะทำการซักประวัติเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โรคประจำตัวรวมไปถึงประวัติครอบครัวซึ่งอาจมีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวานหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะเพิ่มโอกาสความเสี่ยงต่อโรคนั้นได้มากกว่าคนทั่วไป คุณหมอจึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เร็วขึ้น และเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจร่างกาย อาทิ มีภาวะอ้วนลงพุงหรือไม่ เพราะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน,โรคหัวใจขาดเลือด ตรวจวัดความดันโลหิตซึ่งบางรายอาจมีภาวะความดันโลหิตสูงโดยไม่แสดงอาการ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรังในอนาคตได้

สำหรับการตรวจอื่นๆการตรวจอุจจาระ เพื่อดูว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่ การตรวจปัสสาวะจะเป็นการตรวจถึงการทำงานเบื้องต้นของไตได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่เอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้นที่ปอด เช่น วัณโรคหรือดูว่ามีภาวะหัวใจโตหรือไม่ ส่วนการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนส่วนล่างนั้นเป็นการตรวจหาความผิดปกติในช่องท้อง อย่างเช่น ก้อนที่ตับ นิ่วที่ถุงน้ำดี ก้อนที่มดลูก หรือว่าต่อมลูกหมากโต ซึ่งอาจพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาดเล็ก ๆ โดยอาจยังไม่มีอาการของโรคเกิดขึ้น เพื่อวางแผนการรักษาหรือติดตามความผิดปกตินั้น ๆ ได้ทันท่วงที สำหรับการตรวจพิเศษอื่นๆ อย่างเช่น การวิ่งสายพานเพื่อประเมินสุขภาพของหัวใจ การตรวจมวลกระดูก อาจพิจารณาความเหมาะสมหรือความเสี่ยงของช่วงอายุอีกครั้งหนึ่ง



นพ. อกนิษ ปัญญวรวงษ์

นพ. อกนิษ ปัญญวรวงษ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยาและโรคเต้านม

    

พญ. นันทิวดี มาเมือง

พญ. นันทิวดี มาเมือง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน สูติ-นรีเวช ผ่าตัดส่องกล้อง

    

พญ. พรพิมล คชประเสริฐ

พญ. พรพิมล คชประเสริฐ
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์ตรวจสุขภาพ
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 682, 683


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK