รู้ทันภาวะโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

กระดูกพรุน

รู้ทันภาวะโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)


หากพูดถึงภาวะกระดูกพรุนแล้วหลายคนจะนึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นโรคของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเข้าใจว่าโรคกระดูกพรุนยังเป็นโรคทั่วไป ที่ใครๆ ก็เป็นได้เรื่องธรรมดา แต่หารู้ไม่ว่าหากเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่แย่ลงโดยไม่จำเป็น ซึ่งบางรายอาจส่งผลเสียถึงเสียชีวิตได้ ในบทความนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ. นพ. พฤษพงศ์ ศรีสวัสดิ์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลสุขุมวิท มาบอกเล่าเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนให้รู้ทัน ป้องกัน และรักษาทันเพื่อลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้น


Q: ภาวะกระดูกพรุนคืออะไร?

A: โรคของกระดูกที่มีการลดลงของมวลกระดูกและมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของกระดูก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อกระดูกหักได้ง่ายกว่าปกติ ตัวอย่างของผุ้ป่วยที่เกิดโรคกระดูกพรุนมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ภาวะฮอร์โมนในเพศหญิง (เอสโตรเจน) ที่มีผลต่อกระดูกลดลง หรือมีโรคบางชนิดที่เป็นแล้วก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น โรคมะเร็ง โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคจำเป็นที่ต้องใช้ยารักษาสเตียรอยด์นานๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

Q: ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง?

  • การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง หรือวิถีชีวิตเปลี่ยนไป การทำงานนั่งโต๊ะทำงาน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ เป็นต้น
  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • เพศหญิงมากกว่าผู้ชาย
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • มีโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น โรคมะเร็ง โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน หรือโรคบางชนิดที่ต้องรับประทานยาสเตียรอยด์นานๆ เช่น โรคไขข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น

Q: อาการอะไรที่แสดงถึงภาวะโรคกระดูกพรุน?

A: ภาวะโรคกระดูกพรุน ช่วงเริ่มแรกจะไม่เป็นที่สังเกต จะเหมือนกับภาวะความดันโลหิตสูง หากเราไม่วัดความดัน ก็จะไม่ทราบว่าเป็นโรคดังกล่าว แต่ว่าถ้าโรคดำเนินไปสักระยะหนึ่งก็จะมีแสดงอาการออกมาได้ ซึ่งบางทีการรอเวลาให้แสดงอาการ อาจช้าไป อาการที่แสดงได้แก่ ปวดหลัง ผู้สูงอายุ อาจมีหลังโก่ง หรือมีกระดูกยุบ ทำให้ความสูงต่ำลง หากเกิดมีอุบัติเหตุที่แรงกระทำไม่มาก ล้มนิดหน่อย ซึ่งคนในภาวะปกติจะไม่เกิดกระดูกหัก แต่คนที่มีภาวะกระดูกพรุนจะเกิดกระดูกหักได้ พบบ่อยตามข้อมือ ต้นแขน สะโพก หรือกระดูกสันหลัง


Q: กระดูกพรุนเกิดเฉพาะผู้สูงวัยอย่างเดียวหรือไม่?

A: ในผู้สูงวัยจะมีการเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่า แต่การเกิดโรคกระดูกพรุนไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น หากคนที่อายุน้อยและมีโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของกระดูกพรุน ก็อาจเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ เช่น มะเร็ง ไทรอย์ดเป็นพิษ หรือโรคที่รักษาด้วยยาสเตียรอยด์ เช่นยาโรคกระเพาะ


กระดูกพรุน

Q: เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน?

A: โดยปกติแล้วการวินิจฉัยจะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แต่จะสามารถยืนยันผลได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านรังสีวินิจฉัยที่เรียกว่าการตรวจความหนาแน่นของกระดูก หรือเรียกอย่างย่อว่า BMD ซึ่งย่อมาจาก Bone mineral density เป็นการวัดมวลกระดูกได้เป็นค่าสถิติเพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนในเชิงปริมาณอันจะนำไปสู่การรักษา จะช่วยวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำ และยังเป็นแนวทางการรักษาว่าจำเป็นต้องรักษาโดยใช้ยา หรือไม่ใช้ยา และช่วยรักษาให้ทันการเพื่อป้องกันและลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากภาวะกระดูกพรุนที่ตามมา


Q: การรู้ว่าเราเป็นโรคกระดูกพรุนเร็วมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง?

A: การรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะทำให้ส่งผลให้เกิดการรักษาเร็วขึ้นเท่านั้น เหมือนกับโรคพื้นฐานทั่วไป โดยยิ่งใช้หลักการป้องกันยิ่งดี ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ก็อาจส่งผลให้เกิดผลเสียน้อยเท่านั้น หรืออาจยังไม่เกิดเลย เช่นกระดูกหัก หากเกิดหักแล้วก็อาจส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นอีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ตามมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้สูงอายุ

Q: การรักษามีอย่างไรบ้าง?

A: การรักษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

  • การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่นการเลือกรับประทานอาหาร โดยต้องทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมให้เพียงพอ เช่นปลาเล็กปลาน้อย นม ชีส ผักคะน้า บล็อกโคลี่ กะปิ เป็นต้น เพื่อไปเพิ่มเติมแคลเซียมในร่างกาย พร้อมกับการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การออกกำลังกายที่มีลักษณะการออกแรงกระทำต่อกล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยทำให้มีมวลกระดูกที่ดีขึ้น เช่น การเต้นแอโรบิค หรือ การเดินเร็ว โดยควรต้องพิจารณาเรื่องอายุและโรคที่มีร่วมด้วย เพราะหากมีโรคข้อเข่าเสื่อมร่วมกับกระดูกพรุนก็อาจออกแรงวิ่งเร็ว ๆ ไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีเดินเร็ว หรือ ใช้การรำไทเก๊กทดแทน
  • การรักษาโดยใช้ยาสามารถแบ่งออกได้ทั้งยากิน หรือยาฉีด ซึ่งการรักษาโดยใช้ยาแนะนำควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อวางแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง

Q: หากปล่อยให้เกิดโรคกระดูกพรุนแล้วไม่ทำการรักษาจะส่งผลเสียอย่างไร?

A: อย่างแรกจะส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่แย่ลง มีการปวดเรื้อรัง ทั้งนี้การที่เป็นภาวะกระดูกพรุนแล้ว หากปล่อยไว้และไม่รักษาก็สามารถเกิดกระดูกหัก และเกิดการหักซ้ำได้ ไม่ว่าจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์กระแทกเพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดเหตุการณ์กระดูกหักได้ และในผู้สูงอายุการหกล้มสะโพกหักอาจกลับมาเดินไม่ได้ปกติ จึงอาจเกิดการนอนติดเตียงได้ในผู้สูงอายุ เมื่อเกิดการนอนติดเตียง ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย โรคเรื้อรังต่างๆ ก็ตามมาได้ เช่น แผลกดทับ ปอดบวม ติดเชื้อ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงโดยตามลำดับมากยิ่งขึ้น


Q: เรามีวิธีการป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้อย่างไรบ้าง?

A: การป้องกันแล้วจริงๆ ควรเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย ปกติมวลกระดูกคนเราจะสะสมมาตั้งแต่ครรภ์มารดา และจะสูงที่สุดประมาณอายุ 30 ปี หลังจากนั้นเมื่ออายุ 40 – 60 ปี มวลกระดูกจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ หากลดลงไม่ถึงเกณฑ์ภาวะกระดูกพรุน ก็ยังไม่เข้าข่ายภาวะกระดูกพรุน ในบางคนที่ลดลงมากๆ ก็จะเกิดภาวะกระดูกพรุนตามมาได้

สำหรับการป้องกันควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ปกติในกาแฟหรือน้ำอัดลมจะมีปริมาณของสารคาเฟอีน เป็นสาเหตุการเกิดโรคกระดูกพรุน และในน้ำอัดลมจะมีกรดฟอสฟอริกที่มีเกลือแร่ฟอสเฟตเป็นตัวสำคัญ ซึ่งปกติในร่างกายคนเราต้องมีภาวะแคลเซียม และเกลือแร่ฟอสเฟตที่สมดุลกัน แต่หากดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก เช่นดื่มติดกันทุกวัน วันละหลายขวด จะทำให้ความสมดุลระหว่างแคลเซียมกับฟอสเฟตในร่างกายเสียไป ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนตามมาได้

การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่ง มีประโยชน์นอกจากช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเพิ่มมวลกระดูกอีกด้วยโดยการออกกำลังกายจะมีการเคลื่อนไหว โดยการเคลื่อนไหวเกิดจากกล้ามเนื้อที่ทำงาน หากกล้ามเนื้อทำงานในระดับเซลล์แล้ว ตัวกล้ามเนื้อจะไปกระตุ้นให้มีแรงกระทำต่อกระดูก ที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้

ในผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญเลยการมีโรคอะไรที่อาจนำมาสู่ภาวะกระดูกพรุนได้ ต้องทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุนั้น โรคกระดูกพรุนก็อาจไม่เกิดได้ หรือหากเป็นภาวะกระดูกพรุน การรักษาตั้งแต่เริ่มแรกถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ชีวิตได้ดังปกติ ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากโรคกระดูกพรุนตามมาก็จะน้อยลง


Q: การรับประทานแคลเซียมมีประโยชน์ไหม?

A: หากพูดถึงทางการแพทย์ในการรักษาการใช้แคลเซียมคือตัวหลักสำคัญอย่างหนึ่งเช่นกัน โดยปริมาณปกติที่คนทั่วไปต้องการปริมาณแคลเซียมต่อวัน คือ 800 – 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่บุคคลตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุจะต้องการปริมาณแคลเซียมที่มากกว่าคนทั่วไป ประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน หากปริมาณการรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอต่อวันการรับประทานอาการเสริมแคลเซียมก็สามารถช่วยได้ สำหรับการเลือกรับประทานวิตามินแคลเซียมเสริมควรทานคู่กับวิตามินดี จะทำให้กลไกในการดูดซึมในลำไส้ได้ดีมากขึ้น

ภาวะโรคกระดูกพรุน สิ่งสำคัญเลยคือการเริ่มต้นป้องกันตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเพื่อเสริมสร้างมวลกระดูก และในวัยผู้สูงอายุการตรวจประเมินภาวะกระดูกพรุนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสียหายของการเกิดโรคกระดูกพรุนที่ตามได้



นพ. พฤษพงศ์ ศรีสวัสดิ์

ผศ. นพ. พฤษพงศ์ ศรีสวัสดิ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคกระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านมะเร็งกระดูก




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK