ภาวะหัวใจสั่นพริ้ว (Atrial fibrillation, AF)

หัวใจตีบสนิท

ภาวะหัวใจสั่นระริก หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “ภาวะหัวใจสั่นพริ้ว”


ภาวะหัวใจสั่นระริก หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “ภาวะหัวใจสั่นพริ้ว” สำหรับชื่อทางการแพทย์ที่เรียกกันคือ “Atrial Fibrillation หรือ AF” ลักษณะของความผิดปกตินี้คือ การที่มีหัวใจห้องบนเกิดการสั่นพริ้วและส่งสัญญาณมากผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นมีการเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ (ปกติหัวใจจะมีอัตราเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาทีและมีจังหวะที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ) ดังนั้นภาวะ AF จะส่งผลให้หัวใจเกิดการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ และบางครั้งก็อาจจะมีชีพจรที่เต้นเร็วมากจนก่อให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม ไปจนถึงบางรายอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น เกิดอาการเจ็บหน้าอก หรือภาวะน้ำท่วมปอดได้

หัวใจตีบ

ความน่ากลัวของ AF จริงๆแล้วไม่ได้อยู่ตรงที่การเต้นเร็วมากเกินไป แต่การที่หัวใจเกิดการสั่นพริ้วนั้นจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในหัวใจห้องบนนั้นผิดปกติ และอันตรายที่แท้จริงที่คือการเกิดก้อนเลือดขนาดใหญ่ในห้องหัวใจ (แพทย์บางท่านอาจเรียกว่า “ ลิ่มเลือด ”) ซึ่งก้อนเลือดเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะหลุดไปสู่อวัยวะอื่นได้ ที่สำคัญที่สุดของหลอดเลือดสมอง นำไปสู่การเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ ที่เรียกกันว่า “Stroke” และพบว่าคนส่วนหนึ่งที่มาโรงพยาบาลด้วยปัญหา stroke นั้นถูกตรวจพบว่า AF โดยที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน


สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่ AF นั้นมีหลากหลายมากแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ความผิดปกติของหัวใจโดยตรง เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจผิดปกติ ซึ่งความผิดปกติที่หัวใจนั้นจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ AF ได้ และกลุ่มที่สอง คือ ภาวะอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับหัวใจโดยตรง เช่น อายุมาก (โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สามารถพบได้บ่อยขึ้น) ,โรคอ้วน ,โรคเบาหวาน ,ภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้จะพบว่าบางอย่างก็พอแก้ไขได้ แต่บางอย่างก็แก้ไขไม่ได้ เช่น อายุที่มากขึ้น เป็นต้น


การดูแลรักษาผู้ป่วย AF ในปัจจุบัน จะเริ่มต้นด้วยการตรวจวินิจฉัย ซึ่งสามารถตรวจได้ง่าย เพียงแค่ตรวจดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography, ECG) หากพบว่ามีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีลักษณะเป็น AF ก็สามารถวินิจฉัยได้เลย แต่ความน่าสนใจของโรคนี้คือ บางครั้งอาการอาจเป็นๆหายๆ ทำให้มาตรวจที่โรงพยาบาลหลายครั้งก็อาจตรวจไม่พบได้ ดังนั้นปัจจุบันจึงมีการตรวจพิเศษวิธีอื่น เช่น การตรวจติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (holter monitoring) ซึ่งเป็นการติดเครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจไว้ที่ตัวคนไข้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยที่ตัวผู้ป่วยเองสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ห้ามอาบน้ำในวันที่ติดอุปกรณ์บันทึกไว้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการวินิจฉัยได้

หัวใจตีบ

ภายหลังได้รับการวินิจฉัย AF แล้ว ควรได้รับการตรวจดูโครงสร้างหัวใจด้วยการทำอัลตร้าซาวน์ที่บริเวณหัวใจ (echocardiography) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่จำเป็นต้องให้การรักษาไปพร้อมกันด้วยหรือไม่ ซึ่งแนวทางการรักษาหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน

  1. การทานยาเพื่อป้องกันลิ่มเลือดในห้องหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินว่าจำเป็นหรือไม่ โดยดูจากโรคประจำตัวของผู้ป่วย ไปจนถึงอายุของตัวผู้ป่วย การทานยานี้มีความสำคัญมาก เพราะโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตมีไม่กี่สาเหตุที่พอจะป้องกันได้ ดังนั้นแล้วหากได้รับคำแนะนำว่าควรทานยากลุ่มนี้ ตัวผู้ป่วยก็ควรจะทานยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต

  2. การแก้ไขภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ AF ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขภาวะนี้จะมีวิธีการไม่กี่อย่าง แนวทางแรกคือการกินยาควบคุมหัวใจเต้นผิดจังหวะ(โดยเฉลี่ยจะได้ผลประมาณ 50%) และแนวทางที่สองคือการจี้ทำลายวงจรของ AF ซึ่งมีโอกาสหายจากภาวะ AF ได้มากขึ้น (อัตราการควบคุมโรค อยู่ที่ประมาณ 70%)

การจี้ไฟฟ้าหัวใจเพื่อทำลายวงจร AF ถือเป็นการรักษามาตรฐานที่ทำมานานและมีหลักฐานทางการแพทย์ที่บอกถึงถึงประสิทธิภาพในการควบคุมโรค แต่เดิมจะเป็นการใช้คลื่นวิทยุซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนขึ้นภายในห้องหัวใจ โดยที่จะใช้สายนำสัญญาณใส่เข้าไปในตัวคนไข้เพื่อทำการจี้ทำลายวงจร AF และภายหลังการจี้เสร็จ สายนำสัญญาณเหล่านี้ก็จะถูกดึงออกจากร่างกายผู้ป่วย แต่เทคโนโลยีปัจจุบันจะมีการใช้พลังงานความเย็น เข้ามาใช้แทนการจี้แบบเดิม ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า การจี้แบบเย็นจัด (Cryoablation) ขั้นตอนการทำก็จะคล้ายกับวิธีคือใช้สายนำสัญญาณใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วยแต่ใช้พลังงานความเย็นเพื่อจี้ทำลายวงจรที่ผิดปกติ


การจี้แบบเย็นจัด (Cryoablation) จะมีข้อดีที่เหนือกว่าการจี้แบบปกติในหลายด้าน เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาลดลงอย่างชัดเจน (จากปกติ 3-4 ชั่วโมง อาจใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น), ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้างได้ (เพราะสายจี้เย็นจัดได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการรักษา AF โดยเฉพาะ), จะไม่มีอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน (การจี้แบบปกติจะเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายนำสัญญาณ ซึ่งผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ามีอาการเจ็บปวดได้ในระหว่างที่ทำการรักษา เนื่องจากความร้อนจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่เนื้อเยื่อโดยรอบหัวใจ แต่การใช้ความเย็นเพื่อจี้แบบเย็นจัด นั้นจะไม่เกิดผลข้างเคียงเหล่านี้) ซึ่งในปัจจุบันการจี้แบบเย็นจัด ได้มีการใช้เพื่อรักษาผู้ป่วย AF มาเป็นเวลาหลายปี และมีหลักฐานทางการแพทย์ที่บอกถึงประโยชน์ของการรักษาด้วยวิธีนี้


การป้องกันภาวะ AF ในปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถทำได้ ที่สามารถพอทำได้คือ การลดความเสี่ยงที่จะเป็น อาทิเช่น การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นตรวจเช็คสุขภาพทั้งระดับน้ำตาลและไขมันในกระแสเลือด ควรมีการตรวจคัดกรองภาวะ AF อยู่เป็นระยะๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรืออาจมากกว่านั้นหากมีอาการใจสั่นหรือใจเต้นเร็ว และสุดท้ายหากไม่แน่ใจว่าอาการผิดปกติที่เป็นอยู่นั้นใช่ AF หรือไม่ ควรมาตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ


นพ. อภิชัย โภคาวัฒนา

นพ. อภิชัย โภคาวัฒนา
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 665, 666


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK