ภาวะแพ้อาหารในผู้ใหญ่ (Adult-onset food allergy)

ภาวะแพ้อาหารในผู้ใหญ่

ภาวะแพ้อาหารในผู้ใหญ่

เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงภาวะแพ้แบบเฉียบพลันที่เกิดจากร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในอาหารบางชนิด ภาวะเฉียบพลันจะเกิดหลังจากการรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ไปไม่กี่นาที หรือเกิดภายใน 2 ชั่วโมง อาการแสดงของร่างกายจะพบมากกว่า 1 ระบบขึ้นไป จาก 4 ระบบดังต่อไปนี้

  1. อาการทางผิวหนัง: ผื่นคัน ผื่นลมพิษหรือผิวแดงทั้งตัว ปากบวม ตาบวม หน้าบวม
  2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ: คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ ไอมาก แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี้ดหรือหายใจไม่ออก
  3. อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ: ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เจ็บแน่นหน้าอก ความดันโลหิตตก อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
  4. อาการทางระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว

อาหารที่เป็นสาเหตุที่พบได้ เช่น อาหารทะเล โดยเฉพาะ กุ้ง หอย ปลาหมึก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลี ถั่ว ไข่ ผลไม้บางประเภท เช่น กล้วย แอปเปิ้ล อะโวคาโด กีวี ขนุน เป็นต้น


ภาวะแพ้อาหารในผู้ใหญ่

กินมานาน ทำไมเพิ่งจะมาแพ้ตอนผู้ใหญ่

หลักการของการแพ้เฉียบพลัน คือ ร่างกายจะต้องเคยได้รับการกระตุ้นหรือเรียนรู้จากการรับประทานอาหารประเภทนั้นหรือได้รับสารที่มีโปรตีนโครงสร้างคล้ายๆ กัน (sensitization) เมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า IgE (อิมมูโนโกลบูลิน ชนิดอี) ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อโปรตีนในอาหารชนิดนั้น ก็จะเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้เฉียบพลันจากการปล่อยสารฮีสตามีน (histamine) จากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกาย ความสำคัญก็คือสารภูมิคุ้มกันนี้หลังจากผลิตมาแล้ว มีแนวโน้มว่าจะมีตลอดไป ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราได้รับประทานอาหารชนิดเดิมที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ก็จะมีอาการลักษณะเดิมอีก และไม่สามารถทานอาหารชนิดนั้นได้เป็นปกติอีก


แพ้อาหารแบบอื่นๆ ที่พบได้ในบางคน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลี อาหารทะเล ซึ่งทานได้ปกติ แต่เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น การออกกำลังกาย รับประทานร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID หรือ รับประทานอาหารร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นการดูดซึมสารที่ทำให้แพ้มากขึ้น

เมื่อไหร่ที่ต้องพบแพทย์

หากท่านเคยมีประวัติที่สงสัยว่ามีอาการแพ้แบบเฉียบพลันหลังจากทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ และมีอาการแสดงมากกว่า 1 ระบบ หรือมีอาการแค่ระบบเดียว แต่มีความรุนแรงมาก โดยเฉพาะอาการทางระบบหายใจหรืออาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยหลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว เพื่อที่ท่านจะได้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น และป้องกันการแพ้อาหารซ้ำ โดยเมื่อท่านมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ เรื่อง อาหารที่ทาน ระยะเวลาของอาการแสดงหลังจากรับประทาน ยาที่ใช้ประจำ สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ปัจจัยกระตุ้นการแพ้ โดยการวินิจฉัยจะใช้ประวัติร่วมกับการทดสอบทางผิวหนัง (skin test) หรือการเจาะเลือดเพื่อตรวจสารภูมิคุ้มกัน (specific IgE) หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน เพื่อประเมินความน่าจะเป็นของอาหารที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้ ในกรณีที่ผลทดสอบให้ผลเป็นลบ จะทดสอบโดยการลองรับประทานอาหารที่สงสัย (food challenge test) โดยที่จะต้องทำภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น


ภาวะแพ้อาหารในผู้ใหญ่

ถ้าเกิดแพ้ขึ้นมา ทำอย่างไรดี ?

  1. ให้ท่านตั้งสติ และรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือโทรเรียกรถพยาบาลทันที ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น
  2. จัดท่าทางที่เหมาะสม ถ้าท่านหรือคนที่เกิดอาการรู้สึกเวียนศีรษะหน้ามืด ให้นั่งหรือนอนในท่าที่รู้สึกสบายและสามารถหายใจได้สะดวก
  3. ในกรณีฉุกเฉิน ถ้าบริเวณนั้นหรือท่านมียาแก้แพ้พกติดตัวมา สามารถให้ทานก่อนได้ระหว่างที่รอรับความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้หมายความว่ายาแก้แพ้จะเป็นยาหลักในการรักษา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้เฉียบพลันคือ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งจะมีในสถานพยาบาล หรือในกรณีที่ท่านเคยได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้อาหารและได้รับยานี้พกติดตัว ให้ใช้ยานี้ฉีดบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาก่อนที่จะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
  4. ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยแพทย์อาจจะให้ท่านอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 1 วัน


นพ.รวิ เรืองศรี

นพ.รวิ เรืองศรี
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์อายุรกรรมทั่วไป
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 08.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 25-227

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK