ไส้เลื่อน รีบรักษา ก่อนเสี่ยงลำไส้อุดตัน

ไส้เลื่อน


ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมานอกช่องท้อง ทำให้มีลักษณะคล้ายก้อนตุง นูน เป็นก้อนนุ่ม ซึ่งเกิดจากความบอบบางของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • โรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
  • จากการผ่าตัด
  • ภาวะแรงดันในช่องท้องที่มากผิดปกติจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ
    • การออกแรงเบ่งจากภาวะท้องผูก
    • การออกแรงเบ่งปัสสาวะในผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต
    • การไอเรื้อรัง
    • การยกของหนักหรือการออกกำลังกาย เป็นต้น

ซึ่งก้อนที่ตุงหรือนูนออกมานั้น อาจสามารถเลื่อนเข้าออกได้

ไส้เลื่อน มีกี่ชนิดและมีอาการอย่างไร?

  • บริเวณขาหนีบ (Groin Hernia)
  • บริเวณหน้าท้องรอบสะดือ (Umbilical Hernia)
  • บริเวณรอบแผลผ่าตัด (Incisional Hernia)

ผู้ที่เป็นไส้เลื่อนมักจะมีอาการเจ็บหรือปวดหน่วง ๆ บริเวณที่เกิดโรค โดยเฉพาะเวลาที่ก้มตัว ไอ หรือยกสิ่งของ เบ่งถ่ายอุจจาระ บางรายอาจมีอาการผิดปกติที่ช่องท้อง รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย บางรายที่เป็นไส้เสื่อน บริเวณกระบังลม อาจทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการกลืน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ มีแต่เพียงอาการให้เห็นภายนอกเท่านั้น

การรักษาไส้เลื่อน

หากท่านพบว่าตนเองมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นไส้เลื่อน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษา เพราะหากทิ้งไว้นาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงได้ เช่น

  • ไส้เลื่อนติดคา ไม่สามารถกลับเข้าไปในช่องท้องได้
  • ลำไส้ขาดเลือด เน่าตาย
  • ลำไส้อุดตัน

ซึ่งภาวะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ และในปัจจุบันโรคไส้เลื่อนสามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery)
  2. การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ผ่านทางหน้าท้อง ให้ผลการรักษาดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) แต่มีข้อดีกว่าในหลาย ๆ ด้าน เช่น
    • มีแผลผ่าตัดที่เล็กลง ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยลง
    • เสียเลือดน้อย
    • ระยะเวลาพักพื้นไม่นาน
    • ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

ไส้เลื่อน ป้องกันได้อย่างไร?

ไส้เลื่อนที่ไม่ได้มีสาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายแต่กำเนิด สามารถป้องกันได้โดยการรักษาระดับแรงดันภายในช่องท้องให้เป็นปกติ ดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพื่อลดอาการท้องผูก
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควรยกสิ่งของให้ถูกวิธีด้วยการย่อตัวลงและหยิบของ โดยพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ
  • ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดอาการไอ
  • ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการไอติดต่อกันผิดปกติ
  • ถ้ามีภาวะไอเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะไอเรื้อรังเป็นเหตุการเกิดไส้เลื่อน
  • ถ้ามีภาวะต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะลำบาก ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา


นพ.ปัญญา วงศ์จินดาพรรณ
นพ.ปัญญา วงศ์จินดาพรรณ
แพทย์ศัลยกรรมทั่วไป




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

VAR_INCL_CK