ปวดหลังแบบนี้ เป็นที่กล้ามเนื้อหรือกระดูกสันหลัง

ปวดหลัง

ในกลุ่มหนุ่มสาวหลายคนมักมีอาการปวดหลัง บางคนคิดว่าอาจเกิดจากสาเหตุนั่งมากเกินไป หรือไปทำอะไรผิดท่ามา ซึ่งคนจำนวนมากที่มีอาการปวดหลังมักเข้าใจว่าอาการปวดหลังเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับกระดูก ในความเป็นจริงแล้วก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่บางคนอาการปวดหลังก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกระดูกเสมอไป โดยทั่วไปอาการปวดหลังอาจเกิดขึ้นจากการยกของหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป ซึ่งอาการที่รู้สึกได้คือ ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อตึง แต่หากมีอาการที่รู้สึกว่าหลังขยับไม่ได้หรือปวดร้าวไปจนถึงขาข้างใดข้างหนึ่ง นั่นอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท

เมื่อเกิดอาการปวดหลังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักเพิกเฉยหรืออาจจะหายาแก้ปวดมารับประทานเองเพราะคิดว่าไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่หารู้ไม่ว่าบางครั้งอาการปวดหลังก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความผิดปกติทั่วไปเท่านั้น แต่อาจบ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย

อาการปวดหลัง เกิดขึ้นได้จากสาเหตุใดบ้าง?

การปวดหลังมีสาเหตุจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่มีตั้งแต่โครงสร้างของผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกสันหลัง และเส้นประสาท เพราะฉะนั้นอาการปวดจึงสามารถเกิดขึ้นได้จากพยาธิสภาพที่กล่าวไปข้างต้น และระบบที่พบอาการปวดได้บ่อยที่สุดก็คือกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น รองลงมาก็คือระบบกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังเส้นประสาท ส่วนระบบที่พบได้ค่อนข้างน้อยก็คือ ไต ช่องท้อง

ในปัจจุบัน มีการพูดถึงเรื่องของกระดูกสันหลังเส้นประสาทค่อนข้างมาก เนื่องจากเมื่อเป็นแล้วจะมีความรุนแรงและอันตรายมากกว่าระบบอื่น ๆ เพราะฉะนั้นแพทย์จึงให้ความสำคัญกับกระดูกสันหลังเส้นประสาทมากกว่า เช่น โรคกระดูกหลังทับเส้นประสาทก็เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาโรคปวดหลังที่เกิดขึ้นกับภาวะกระดูกสันหลัง

ปัญหาของกระดูกสันหลัง ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง

สำหรับปัญหาของกระดูกสันหลังที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง สามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุจนทำให้กระดูกสันหลังหัก กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังเสื่อม และกระดูกพรุน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของ หมอนรองกระดูกที่มีปัญหาได้ เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกอักเสบ หมอนรองกระดูกติดเชื้อ

ทั้งนี้ ในส่วนของเส้นประสาทก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลังโดยอาจจะ ถูกกดทับจากภาวะกระดูกเสื่อม มีก้อนถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยจนทำให้เกิดอาการ ปวดหลังก็คือ ปัญหาเรื่องของหมอนรองกระดูก โดยเฉพาะปัญหาหมอนรองกระดูกเคลื่อน ซึ่งมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยปวดเป็นครั้งคราวไปจนถึงปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเคลื่อนและไปทับเส้นประสาท แต่ในกรณีที่หมอนรองกระดูกแตกจะมีอาการ

  • ปวดอย่างรุนแรง
  • ขาชา
  • ขาอ่อนแรง

หากมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดทันที

นอกจากหมอนรองกระดูกสันหลังแล้วโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน แต่ที่พบได้บ่อยคืออาการของกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาทจนทำให้กระดูกทรุดลงมา คำว่า "เสื่อม" หมายความว่ากระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ได้มีการเสื่อมสภาพลง ความยืดหยุ่นน้อยลงทำให้ กระดูกสันหลังหลวมมากขึ้นจึงเริ่มมีการทรุดตัว ลงทำให้มีอาการปวด มีอาการชา โดยส่วนมากจะพบได้ในผู้สูงอายุ ส่วนในกลุ่มที่อาการหมอนรองกระดูกแตก กระดูกสันหลังเคลื่อนจะพบได้ในคนที่อายุน้อยกว่า

ลักษณะของอาการปวด

อาการปวด จะปวดได้ตั้งแต่บริเวณรอบ ๆ หลัง จนปวดร้าวลงมาที่ขาร่วมกับอาการชาและอาการอ่อนแรง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจะทำให้มีภาวะปัสสาวะไม่ออกและทำให้เกิดอัมพาตครึ่งตัวได้ สำหรับอาการปวดหลังอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นหมอนรองกระดูกแตก จะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรงและร้าวลงขาอย่างรุนแรง ลุกนั่งไม่ไหวต้องนอนเพียงอย่างเดียว ถ้ามีอาการปวดหลังมากก็จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน ทั้งการลุก การยืน ขับรถและการนั่งทำงาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการปวดถ้ายิ่งปวดมากและปวดขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะไม่สามารถนั่งนาน ๆ ได้ ยืนนานไม่ได้ และหากมีปวดรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันก็ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา

การบรรเทาอาการปวดหลังในกรณีผู้สูงอายุด้วยตัวเอง สามารถทำได้โดยที่มีอาการปวดหลังไม่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูก อักเสบนิดหน่อย หรือผู้สูงอายุที่มีกระดูกสันหลัง เสื่อมเล็กน้อยก็สามารถบรรเทาอาการปวดด้วย การออกกำลังกาย ถ้าในกรณีที่มีอาการปวดหลัง แต่ปวดไม่เยอะผู้ป่วยอาจจะใช้น้ำอุ่นประคบ ใช้ยานวด และนอนพัก หากมีอาการปวดเรื้อรังสิ่ง ที่สำคัญที่สุดก็คือการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงและเพื่อไม่ให้กระดูกสันหลังโยกมากหรือทำให้เกิดการปวด ทั้งนี้หากมีอาการปวดรุนแรงการรับประทานยาแก้ปวดจะสามารถช่วยได้แค่ในช่วงแรกเท่านั้นทางที่ดีควร รีบมาพบแพทย์เพื่อจะให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ขั้นตอนการวินิจฉัยอาการปวดหลัง

ขั้นตอนโดยส่วนใหญ่แพทย์จะทำการ

  • ซักประวัติผู้ป่วย
  • ตรวจร่างกายเพื่อดูกำลังขาและดูตำแหน่งที่มีอาการปวด ตำแหน่งเส้นประสาทที่ก่อให้เกิดอาการปวด
  • หลังจากนั้นแพทย์จะทำการถ่ายเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูหมอนรองกระดูกและเส้นประสาทว่ามีความผิดปกติตรงไหน
  • นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจการทำงานของเส้นประสาทแขนและขา เพื่อที่จะดูการทำงานของเส้นประสาท ว่าสามารถทำงานได้ดีไหม เพื่อไปเทียบกับภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ จึงจะได้คำวินิจฉัยออกมาว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร หรือเป็นภาวะใด

นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส

นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์โรคกระดูกสันหลัง
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111

 
VAR_INCL_CK