ผ่าตัดผ่านกล้อง รักษาหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อวัยวะหลาย ๆ อย่างของร่างกายที่เราใช้งานเป็นประจำมาอย่างยาวนานก็มีความเสื่อมถอยลงตามช่วงวัย ความเสื่อมของอวัยวะบางอย่างอาจไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่อวัยวะบางอย่าง เมื่อเสื่อมลง อาจส่งผลกระทบต่อการใช้งาน ทำให้เกิดการเจ็บปวดขึ้น อย่างเช่น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นต้น

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หนึ่งในโรคที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ เป็นภาวะที่เกิดจากความเสื่อมของโครงสร้างกระดูกสันหลัง พบได้ในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมตามอายุที่มากขึ้นและจากการใช้งาน เพราะในปัจจุบัน วิถีการดำเนินชีวิตของคนเราเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้กันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่

  • พันธุกรรม
  • การขาดสารอาหาร
  • การสูบบุหรี่
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • มีประวัติหกล้ม หรืออุบัติที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลัง
  • การยกของหนัก
  • การเล่นกีฬาแบบ extreme

อาการแบบไหน ควรสงสัยว่าเป็น
หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท” ?

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมักมีอาการเบื้องต้น คือ มีอาการปวดหลัง เป็น ๆ หาย ๆ แต่มีอาการเรื้อรัง ปวดเป็นเวลานาน ถ้าหากว่ามีการแตกของหมอนรองกระดูก ทำให้หมอนรองกระดูกออกมากดทับเส้นประสาท ทั้งนี้ ก็อาจจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรงได้ ร่วมกับมีอาการปวดหลังตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวลงขา น่อง เท้า โดยเฉพาะเวลาเดิน จะมีอาการปวดมาก ทำให้ไม่สามารถเดิกได้ไกล ๆ หรือนาน ๆ มีท่าเดินที่ผิดปกติไป ซึ่งอาการปวดหลังร้าวลงขา อาจเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ หากทิ้งไว้นาน หรือเส้นประสาทถูกกดทับมากจนได้รับบาดเจ็บ จะทำให้เกิดอาการชาและขาอ่อนแรง



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

แนวทางการตรวจวินิจฉัย

ในการตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทนั้น แพทย์จะต้องทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วย พร้อมซักถามประวัติการเจ็บปวดและลักษณะอาการที่มี เนื่องจากอาการปวดหลังมีหลายแบบ และเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ในผู้ป่วยรายที่มีอาการปวดมาก เป็นเรื้อรัง หรือมีอาการที่บ่งชี้ว่ามาจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แพทย์อาจแนะนำให้ทำเอกซเรย์และทำ MRI เพื่อดูภาพกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก หากพบว่ามีความผิดปกติที่บริเวณกระดูกสันหลังหรือหมอนรอกระดูกสันหลัง แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาตามความเหมาะสม

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นปะสาท
รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

  • การรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู(กายภาพบำบัด
  • การผ่าตัดทั้งแบบวิธีเปิด และการผ่าตัดแผลเล็ก

แต่การเลือกวิธีการรักษาให้กับคนไข้นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคในคนไข้แต่ละราย ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้มีเทคโนโลยีหรือเทคนิคการรักษาแบบใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาททำได้ง่ายขึ้น ได้ผลดีขึ้น และคนไข้เจ็บตัวน้อยลง ซึ่งวิธีการผ่าตัดที่ถือว่ามีประสิทธิภาพดี ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ที่แพทย์สามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไป เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่มีปัญหาหรือที่แตกออกมาได้โดยตรง

กล้อง Endoscope คืออะไร?

กล้อง Endoscope คือกล้องที่ใช้ในการผ่าตัด มีขนาดเล็กมากกว่านิ้วมือของคนเรา สามารถสอดเข้าไปในร่างกายได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ ที่ปลายของกล้องจะมีเลนส์ที่ทำหน้าที่ฉายภาพอวัยวะภายในร่างกาย ทำให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของโรคอย่างชัดเจน

แพทย์จะเปิดแผลบริเวณด้านข้างของร่างกายผู้ป่วย ขนาดเล็ก น้อยกว่า 1 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะสอดท่อเข้าไปในแนวเฉียงผ่านช่องของกระดูกสันหลัง ซึ่งช่องกระดูกสันหลังนี้มีความกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร ทำให้สามารถสอดกล้อง Endoscope เข้าไปยังบริเวณหมอนรองกระดูกหรือบริเวณเส้นประสาทที่ถูกกดทับได้ โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก กล้อง Endoscope จะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถให้การรักษาได้อย่างปลอดภัยและตรงจุด

การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง Endoscope ดีอย่างไร?

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยวิธีแบบเดิม หรือแบบเปิดนั้น แพทย์จะต้องทำการเปิดแผลคนไข้ที่ขนาดไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตรที่บริเวณกลางหลัง และต้องทำการตัดตัดกระดูกบางส่วนออกเพื่อที่จะเปิดช่องเข้าไปดูตำแหน่งที่ชัดเจนของโรค จากนั้น จะต้องมีการผลักเส้นประสาทประสาทสันหลังออกไปด้านข้าง เพื่อที่จะสามารถทำการผ่าตัดเลาะหมอนรองกระดูกออกได้

จากที่กล่าวมาเบื้องต้น เราจะเห็นได้ว่าการผ่าตัดแบบเดิมนั้น คนไข้จะต้องจะมีการเจ็บและขนาดแผลที่ใหญ่กว่า นอกจากการเลาะกล้ามเนื้อบางส่วนออก คนไข้บางรายอาจต้องตัดกระดูกออกเยอะ ทำให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังเสียหายบางส่วน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นนาน

แต่การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope นั้น จะมีข้อดีกว่าในการผ่าตัดแบบเดิมในหลาย ๆ ประการ เช่น

  • แก้ปัญหาได้ตรงจุด
  • ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
  • ขนาดแผลที่เล็กลง : โดยแผลผ่าตัดจะมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร
  • เจ็บน้อยลง : เนื่องขนาดของปากแผลที่เปิดเล็กลงมาก การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในก็น้อยลง ทำให้หลังผ่าตัดคนไข้จะรู้สึกเจ็บน้อยกว่า
  • ฟื้นตัวเร็วกว่า
  • ลดค่าใช้จ่าย : เพราะลดระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาล
  • ปลอดภัยกว่า : เพราะแพทย์จะสามารถเห็นรายละเอียดภายในได้อย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มความแม่นยำให้การรักษา ลดความเสี่ยงและข้อผิดพลาด

จากข้อดีหลาย ๆ ข้อของการผ่าตัดผ่านกล้องที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะพอทำให้หลาย ๆ ท่านคลายความกังวลใจเกี่ยวกับการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้พอสมควร ด้วยเทคนิคการรักษาที่ทำให้คนไข้เจ็บน้อย แต่ฟื้นตัวได้ไว้ และความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องจึงนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

หากท่านพบว่าตนเองมีอาการปวดหลังร้าวลงขา มีอาการชา ขาอ่อนแรง ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัย หากตรวจพบได้ไว ก็สามารถรักษาให้หายและกลับมามีชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น



นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส

นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์โรคกระดูกสันหลัง
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111

 
VAR_INCL_CK