อันตรายที่คาดไม่ถึงของแสงแดด


ถึงจะเริ่มเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มตัว แต่ไม่ว่าฤดูไหนเราก็หลีกเลี่ยงแสงแดดไม่พ้น ความจริงแล้วแสงแดดก็มีประโยชน์มาก มีส่วนช่วยผลิตวิตามินดีในมนุษย์ ลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า ช่วยฆ่าเชื้อโรคและรักษาโรคบางชนิดได้ แต่ถ้าได้รับแสงแดดมากเกินไปก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน พญ.ชุติมา เกิดศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาผิวหนัง เลเซอร์และความงาม จะมาแนะนำว่าเราจะป้องกันแสงแดดอย่างไรให้ถูกวิธี

แสงแดดคืออะไร ?

ในแสงแดดจะประกอบไปด้วยรังสีและแสงหลายชนิด ที่แตกต่างกันตามความยาวคลื่น โดยแบ่งเป็น

  • แสงที่มองเห็น (Visible light) มีปริมาณ 45 %ของแสงแดดทั้งหมด มีพลังงานต่ำแต่ถ้าได้รับเป็นเวลานานก็ทำให้ผิวคลำเสีย กระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้น หรือผิวเสื่อมจากแดดได้ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ
  • แสงที่มองไม่เห็น (Invisible Light) เช่น อัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light ;UV) ที่เราต่างคุ้นหูกันดี ซึ่งรังสียูวีถูกแบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน คือ รังสีUVC , UVB และ UVA แต่แสงแดดที่มาถึงพื้นโลกจะมีคลื่นแสงยาวกว่า 290 nm ดังนั้น UVC มักมาไม่ถึงผิวโลก ยกเว้น บริเวณยอดเขาสูงเป็นต้น
  • แสงอินฟราเรด (Infrared) หรือแสงที่ให้ความร้อน มีปริมาณ 50% ของแสงแดดทั้งหมด และมีพลังงานต่ำกว่าแสงที่ให้ความสว่าง ดังนั้น จึงมีพลังงานต่ำที่สุด โดย Infrared A เป็นคลื่นแสงที่ทำให้เกิดผิวแก่ก่อนวัย (photoaging) ย่อยสลายคอลลาเจน (collagen breakdown) และเกิดรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระได้ แต่ต้องใช้ปริมาณสูงมาก

ความแตกต่างของรังสี UVA และรังสี UVB

รังสี UVA มีอยู่อย่างต่อเนื่องตลอด ทั้งวัน สามารถทะลุผ่านชั้นของเมฆและหมอกควันได้ไม่จำกัด ที่สำคัญคือทะลุผ่านกระจกได้ ในขณะที่ UVB ไม่ผ่าน เป็นรังสีที่กระตุ้นเม็ดสีเมลานิน ทำให้ผิวเป็นสีน้ำตาลในระยะสั้น และผ่านลงลึกไปในผิวชั้นล่าง (ชั้นหนังแท้) ก่อให้เกิดริ้วรอยผิวก่อนวัยอันควร ภูมิแพ้แสงอาทิตย์และผิวไวต่อแดด การกดภูมิคุ้มกัน ตาและจอประสาทตาเกิดความเสียหาย และเกิดการก่อตัวของอนุมูลอิสระส่งผล กระทบทางอ้อมต่อดีเอ็นเอ การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังบางชนิดได้

รังสี UVB จะเข้มสูงสุดในช่วง 10.00-16.00 น. เป็นรังสีที่จำเป็นต่อการผลิตวิตามินดี แต่ผลเสียคือทำให้ผิวไหม้แดด (Sunburn), กระตุ้นการผลิตเมลานินใหม่ที่มีสีน้ำตาลดำ ติดทนนาน และเป็นสาเหตสำคัญของการเสียหายของดีเอ็นเอ โรคมะเร็งผิวหนัง ตาและจอประสาทตาเกิดความเสียหาย

อาการหรือโรคผิวหนังที่เกิดจากแสงแดดที่พบบ่อย

  1. ผิวไหม้แดด (Sunburn) ส่วนใหญ่เกิดจาก รังสี UVB ทำให้ผิวมีสีแดง เจ็บและพุพอง อาการอาจไม่เกิดขึ้นทันที อาจใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงหลังจากนั้น การรักษาคือ ใช้ผ้าเย็นหรือผลิตภัณฑ์ที่เย็นประคบไว้ลดอาการปวดและบรรเทาการอักเสบ ถ้ามีอาการมากอาจต้องทาสเตียรอยด์
  2. อาการแพ้แดดไม่ทราบสาเหตุ (Polymorphus Light Eruption: PMLE) พบมากที่สุดของการแพ้แสงแดด และคิดเป็นประมาณ 90% ของผู้ปวยทั้งหมดที่แพ้แสงแดด การแพ้แดดถูกกระตุ้นจากภาวะความเครียดอ็อกซิเดชั่น (Oxidative stress) ที่เกิดโดยรังสี UVA และ UVB
  3. ยาและสารเคมีที่กระตุ้นให้ไวต่อแสง (Chemical and Drug Photosensitivity) เกิดได้จากทั้งยาชนิดรับประทาน, ยาที่ใช้ทาภายนอกและเครื่องสำอาง เช่น ยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวดบางตัว เช่น ibuprofen สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาไวต่อแสงได้, ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAID), ยาขับปัสสาวะ, ยากลุ่มสแตนติน, ยากลุ่มเรตินอยด์ และยาฆ่าเชื้อรา เป็นต้น
  4. โรคผิวหนังที่กำเริบมากขึ้นจากแสงแดด (Photoexacerbated Dermatoses) เช่น โรคลูปัส (systemic lupus erythematosus, SLE)
  5. สิวผด (Acne Aestivalis /Mallorca Acne) เกิดขึ้นเมื่อรังสียูวีรวมกับส่วนผสมบางอย่างในเครื่องสำอางหรือครีมกันแดด เช่น emulsifiers, ก่อให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของไขมันบริเวณรูขุมขน แต่มีโอกาสเกิดขึ้น 1-2% และพบมากสุดในกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยกลางคน (25-40 ปี)
  6. ริ้วรอยก่อนวัย (Early Wrinkles) รวมถึงฝ้า กระ จุดด่างดำจากอายุ (Liver spot), หลอดเลือดดำที่เหมือนใยแมงมุม (Spider Vein) บนใบหน้า
  7. มะเร็งผิวหนัง (Skin cancers) โรคมะเร็งผิวหนังมีได้หลากหลายชนิดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer) ได้แก่ Basal cell Carcinoma (BCC) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบมากที่สุด ลักษณะเป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือ ชมพูใส ผิวมันแผลตรงกลางมีขอบยกนูนโตช้าบางครั้งอาจมีสีดำคล้ายไฝ มักเกิดบริเวณที่ได้รับแสงแดด หรือนอกร่มผ้า, ชนิด Squamous cell carcinoma(SCC) พบอุบัติการณ์น้อยกว่าชนิด BCC และโรคมะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma (Malignant melanoma) พบน้อยที่สุดในมะเร็งผิวหนัง 3 ชนิดนี้ แต่เป็นอันตรายเนื่องจากแพร่กระจายได้มากที่สุด เกิดจากเซลล์เม็ดสีมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ อาจลุกลามไปจุดสำคัญ เช่น สมองได้ ถ้ามีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยต่อไป

วิธีปกป้องผิวจากแสงแดด

ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ช่วง 10.00-16.00 น.เพราะมีรังสี UVB อยู่เข้มข้น ทำให้ผิวถูกเผาไหม้ได้มากกว่าช่วงเวลาอื่น ถ้าจำเป็นให้สวมเสื้อแขนยาว กางร่ม ใส่หมวกปีกกว้าง ใส่แว่นตากันแดด จะช่วยป้องกันแสงแดดไม่ให้ทำลายผิวและยังป้องกันการเกิดต้อกระจกได้อย่างดี ที่สำคัญควรทาสารป้องกันแดด (Sunscreen) หรือครีมกันแดด เป็นประจำทุกวัน

วิธีการเลือกสารป้องกันแดด (Sunscreen) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. สารป้องกันแดดสะท้อนแสง (Physical sunscreen) ช่วยสะท้อนแสง ได้แก่ titanium dioxide, zine oxide สารกลุ่มนี้ ป้องกันได้ทั้ง UVA, UVB และแสงที่มองเห็น (Visible light) ข้อดีคือ ดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย ทำให้แพ้น้อย แต่ข้อเสียคือ ครีมมักข้น เหนียวเหนอะหนะ หรือทำให้หน้าลอย
  2. สารป้องกันแดดดูดแสง (Chemical sunscreen) ช่วยดูดซับแสงที่มากระทบกับผิวหนัง แล้วเกิดปฏิกิริยาเคมีเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน ช่วยกรองแสงแตกต่างกันตามชนิดของสารกรองแสงป้องกันรังสี UVAและรังสี UVB ข้อเสียคือไม่คงทน (Instability) และทำให้ผิวแพ้ได้

ประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกัน UVB ดูได้จากค่า SPF (Sun Protective Factor) เป็นตัวบอกการป้องกันการไหม้แดง (Sunburn) จากแสงแดด ถ้าค่า SPF มากกว่า 15 ก็ป้องกัน UVB ได้ระดับสูง และถ้าสูงมากกว่า 30 ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุด เนื่องจากความสามารถในการป้องกัน UVB จะไม่แตกต่างกันมากนักตามค่าของ SPF เช่น ค่า SPF15 ป้องกัน UVB ได้ >93%, SPF30 ได้ 96.7 % และ SPF40 ได้ 97.5 % เป็นต้น

ประสิทธิภาพในการป้องกันแสง UVA ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เช่น PPD (Persistent Pigment Darkening),PPA, PFA, PA (The protection grade of UV A) มักบอกเป็น+, ++, +++ หรือบางประเทศก็ใช้รูปดาวบอกเป็นหนึ่งดาวจนถึง 4 ดาว เป็นต้น

สำหรับ Visible light ปัจจุบันยังไม่มียากันแดดที่สามารถปกป้อง visible light ได้โดยเฉพาะ แต่จะแนะนำให้ใช้ยากันแดดกลุ่ม Physical sunscreen เช่น Zinc oxide, Titanium dioxide ซึ่งช่วยสะท้อนแสงแทน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงอินฟราเรด(Infrared) ได้อีกด้วย

ข้อแนะนำในการป้องกันแสงแดดโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังและมะเร็งผิวหนังในอเมริกา แนะนำให้ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 15 (ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ ถ้าทำ กิจกรรมเอาท์ดอร์มากๆ ก็เลือกใช้ SPF สูงขึ้น) และทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที แนะนำให้ทาบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่โดนน้ำ และใช้ปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตรของผิวหนังทั่วไป ถ้าเป็นที่ใบหน้าและคอให้ใช้ครีมกันแดดประมาณ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ

นอกจากครีมกันแดดแล้ว อาจใช้ควบคู่กับผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อื่นๆ ได้แก่ โคเอนไซม์ คิวเทน (Co-enzyme Q10) สำหรับริ้วรอยที่สูญเสียความชุ่มชื้น สารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-Oxidant) เช่น วิตามินA, E, C, Astaxanthin, ชาเขียว ก็จะช่วยปกป้องและฟื้นฟูผิวได้




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 369, 370



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

VAR_INCL_CK