ปวดแสบปวดร้อนจากพิษแมงกะพรุน

พอจะเข้าฤดูร้อนโรงเรียนก็ทยอยกันปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย ก็มีโอกาสพาบุตรหลานไปพักผ่อนตากอากาศริมทะเล เล่นน้ำทะเลกันเป็นที่สนุกสนาน เป็นที่ทราบกันดีว่า แมงกะพรุนที่อยู่ในทะเล บางครั้งจะถูกน้ำทะเลซัดเข้าสู่ชายหาดบริเวณน้ำตื้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเกิดอากาศแปรปรวน จึงเป็นปัญหาแก่ผู้เล่นน้ำทะเลตามชายหาดได้ ถ้าโชคไม่ดีบังเอิญไปสัมผัสหนวดของแมงกะพรุนเข้า

ตามธรรมชาติ หนวดของแมงกะพรุนจะมีกระเปาะเล็กๆ เรียงรายอยู่จำนวนมาก ซึ่งในกระเปาะนั้นบรรจุพิษอยู่ตรงปลายกระเปาะ มีเข็มเล็กๆ สำหรับทิ่มแทงเหมือนเข็มฉีดยา เมื่อแมงกะพรุนเจอเหยื่อมักจะใช้หนวดจับ และฉีดพิษเข้าไปทำร้ายเหยื่อของมัน

ผื่นอักเสบจากพิษของแมงกะพรุน มักจะเกิดขึ้นบริเวณขามากที่สุด รองลงมาก็เป็นที่บริเวณแขนและลำตัว ผื่นจะมีสีแดงเป็นทางยาวๆ บางครั้งก็พองเป็นตุ่มน้ำและอาจแตกเป็นแผล ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ความรุนแรงของผื่นนั้นขึ้นกับชนิดของแมงกะพรุนว่ามีพิษมากน้อยเพียงใด และสัมผัสกับหนวดแมงกะพรุนเต็มที่หรือไม่

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็คือ ผู้ป่วยควรรีบขึ้นจากน้ำ เอาน้ำส้มสายชูราดบริเวณที่เป็นเพื่อหยุดพิษที่ยังเหลืออยู่บนผิว แล้วเอาน้ำทะเลล้างบริเวณที่เป็น (ที่สำคัญห้ามใช้น้ำจืดหรือเหล้า หรือแอลกอฮอล์ล้างโดยเด็ดขาด เพราะจะกระตุ้นให้พิษที่ยังค้ายในกระเปาะที่ปักคาผิวถูกบีบออกมาอย่างรุนแรง ทำให้ได้รับพิษมากยิ่งขึ้น) แล้วจึงใช้สันมีดหรือบัตรเคลือบพลาสติกค่อยๆ รูดไปตามผิวหนังเพื่อเอาเข็มพิษออกไป ถ้ามีผักบุ้งทะเลก็เอามาบี้แล้วทาบนผื่น แล้วรีบไปพบแพทย์ โชคดีที่เมืองไทยเราไม่มีแมงกะพรุนที่มีพิษรุนแรงถึงกับทำให้ช็อคและเสียชีวิตได้อย่างในประเทศออสเตรเลีย

หลังจากระยะพิษเฉียบพลันผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในผู้ป่วยบางคนจะมีผื่นคันมาก แดงๆ มีตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ ขึ้นที่ตำแหน่งเดิม ไม่มีอาการแสบร้อน ผื่นนี้เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ ซึ่งถึงแม้ให้การรักษาจนยุบไปแล้วก็มักจะกำเริบขึ้นมาอีกทุก 3-4 สัปดาห์ ไปอีกสักพัก ขึ้นกับคนๆ นั้นจะแพ้มากหรือน้อยต่างกันไป

ฤดูร้อนปีนี้ ถ้าท่านจะไปพักผ่อนชายทะเลก็พอจะปฏิบัติตัวได้ถูกต้องถ้าบังเอิญไปสัมผัสกับแมงกะพรุนนะคะ

เรียบเรียงโดย : พญ.ปาริชาติ ชลิดาพงศ์
ศูนย์ : ผิวหนังเลเซอร์และความงาม
ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม : 02-391-0011

VAR_INCL_CK