อาหาร คือ สารต้านอนุมูลอิสระทรงพลัง

ครั้งที่แล้ว เราได้ทราบกันแล้วว่าอาหารคือสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์เราเป็นอย่างยิ่ง เรารับทราบว่าอาหารเป็นสารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เสริมสร้างการเจริญเติบโต และซ่อมแซมรักษาส่วนที่สึกเหรอ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคโดยจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามโครงสร้างพื้นฐานทางเคมี และหน้าที่ต่อร่างกายเป็น 5 กลุ่ม ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น

ครั้งนี้ เราจะได้รู้จักอาหารในอีกฐานะหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ และเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ "อาหารเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง"

ก่อนอื่นคงต้องรู้จักคำว่า "อนุมูลอิสระ" ซะก่อนว่าหมายถึงอะไร ถ้าดูถึงที่มาของคำนี้ก็ต้องอ้างถึง ศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้ ซึ่งในภาษาอังกฤษจะใช้หลายคำ (แต่ในภาษาไทยเรา จะใช้เพียงคำเดียวคือ อนุมูลอิสระ) เช่น Free radical (Oxygen), Oxi-dants, Oxidative Stress, Radical Oxygen Species (ROS) ตัวอย่างสารที่เกิดขึ้นในร่างกายที่เป็นสารอนุมูลอิสระก็คือ O2 (Free radical oxygen), OH (ไฮดรอกไซด์), H2O2 (ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์), NO2 (ไนตรัสออกไซด์), NO (ไนตริกออกไซด์), RO, ONOO

นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่นๆ อีกมากมาย แต่เกิดขึ้นนอกร่างกายแล้วร่างกายรับเข้าไป เช่น ยาฆ่าหญ้า, ยาฆ่าแมลง, ยารักษาโรคมะเร็ง (Chemotherapy) รังสีรักษา (Radiation therapy) แสง UV (Ultraviolet) ฯลฯ เป็นต้น

ถ้าเราจะกล่าวให้สั้นๆ และง่ายๆ เพื่อความเข้าใจ "สารอนุมูลอิสระ ก็คือ สารพิษที่เกิดขึ้นภายในร่างกายตามธรรมชาติ จากขบวนการต่างๆ ในร่างกาย (Metabolism) และสารพิษที่มาจากภายนอกร่างกาย แล้วเข้าสู่ร่างกายของเรา" สารพิษเหล่านี้ บางครั้งก็เป็นประโยชน์ต่อเรา เช่น ตอนที่เม็ดเลือดขาวปล่อยสารบางอย่างออกมาย่อยสลายเชื้อโรคที่รุกล้ำร่างกายของเรา สารเหล่านั้นก็คือ "อนุมูลอิสระ" นั่นเอง แต่ส่วนใหญ่แล้ว ล้วนเป็นโทษ และทำร้ายเนื้อเยื่อร่างกายของเรา ร่างกายของเราพยายามต่อต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ โดยการสร้างสารขึ้นมา ซึ่งเราเรียกว่า "สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)" เช่น CATALASE, SUPEROXIDE, DISMUTASE, GLUTATHIONE PEROXIDASE, GTUTATHIONE ฯลฯ และรับจากภายนอก ที่มีอยู่ในสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป เช่น วิตามินเอ, ซี, อี, บี ฯลฯ เกลือแร่บางอย่าง เช่น สังกะสี, โครเมี่ยม, ซีลีเนียม ฯลฯ และบางครั้งร่างกายรับเข้าไปเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตสารต้านอนุมูลอิสระอีกทอดหนึ่ง เช่น สารอาหารโปรตีนที่ชื่อ ซีสเตอีน (Cysteine) เป็นวัตถุดิบที่ร่างกายนำไปสังเคราะห์ กลูตาไธโอน (Glutathione) สารที่เป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าคลินิกความงามบางแห่งนำไปฉีดเพื่อทำให้ผิวขาวขึ้น ลดกระ ลดฝ้าดำ ในทางการแพทย์เราใช้สาร N-Acetylcysteine (ยาละลายเสมหะชนิดหนึ่ง) ในปริมาณสูงเพื่อให้ร่างกายสร้าง Glutathione ในการต้านพิษของยาพาราเซตามอล ที่ได้รับเกินขนาด เพื่อป้องกันตับอักเสบ หรือตับวาย ไตวายจากพิษยา และในกรณีแพ้ยารุนแรงจนผิวหนังไหม้ลอกทั้งตัว ก็สามารถใช้ประโยชน์จากยาละลายเสมหะชนิดนี้ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กลูตาไธโอน (Glutathione) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระพื้นฐานที่ร่างกายใช้มาก และใช้อยู่ตลอดเวลา และแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระต่อร่างกายได้อย่างดีที่สุดกรณีหนึ่งทีเดียว

สารอนุมูลอิสระ เป็นพิษต่อร่างกายแล้วร่างกายผลิตออกมาทำไม ?

ร่างกายไม่ได้ต้องการผลิต แต่มันเป็นผลพลอยได้จากขบวนการเผาผลาญต่างๆ (Metabolism) ในร่างกาย คล้ายกับควันพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ แต่มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันต้องมีจากขบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับร่างกายคนหลังจากสูดดมออกซิเจนเข้าไปใช้ประโยชน์ ในขบวนการเผาผลาญภายในเซลล์ต่างๆ ก็จะมีของเสียเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นก็คืออนุมูลอิสระจากออกซิเจน (Free Radial Oxygen) ซึ่งร่างกายต้องพยายามขจัดมันออกไป เพื่อให้มันทำอันตรายต่อร่างกายน้อยที่สุด ออกซิเจนจึงมีทั้งคุณและโทษ จะให้ได้ผลดีต้องได้รับในปริมาณที่พอดี ถ้ามากเกินไปก็เป็นพิษได้

ในรถยนต์วิศวกรพยายามประดิษฐ์ตัวลดควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ที่เรียกว่า Catalytic Converter (คะตาไลติค คอนเวิตเตอร์) ในร่างกายคนเราธรรมชาติต้องใช้หลายขบวนการ ใช้สารหลายตัวช่วยกัน ซึ่งเราเรียกสารเหล่านี้ว่า "สารต้านอนุมูลอิสระ" ดังได้กล่าวมาข้างต้น ร่างกายสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้จำกัด ทั้งชนิดและปริมาณ แต่ร่างกายสามารพรับสารต้านอนุมูลอิสระจากภายนอกได้ไม่จำกัด ทั้งชนิดและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระนอกร่างกาย มีมากมายหลายชนิด แต่ทั้งหมดล้วนมาจากพืชผักผลไม้ สมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ เช่น วิตามินต่างๆ เกลือแร่บางชนิด, สารคาโรทีนอยด์ (Carotenoid) ประกอบด้วยไลโคปิน (Lycopene), เบต้าคาโรทีน (Beta-Carotenoid), แอลฟ่าคาโรทีน (Alpha-Carotene), Lutein, Zeaxanthein, Astaxanthine, สาร Non-Carotenoid, Flavonoid ฯลฯ ฟังดูแล้วอาจจะงงๆ เพราะชื่อแปลกๆ เป็นภาษาวิชาการ แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ สารที่พบในพืชผัก ผลไม้ทั้งหลายนั่นเอง เช่น

  • Lycopene พบมากในมะเขือเทศ
  • Beta Carotene ในกล้วย ส้ม มะละกอ ฟักทอง มะม่วงสุก แครอท
  • สาร Anthocyanins พบมากใน องุ่น เมล็ดองุ่น ลูกเบอร์รี่ต่างๆ (สตอเบอรี่ เชอรี่ ราสเบอร์รี่ ฯลฯ)
  • สาร Lutein, Zeasanth ในข้าวโพด, Avocado (ผลอะโวคาโด)
  • สาร Curcumin ในขมิ้นชัน
  • สาร Chlorophyll ในผักใบเขียวต่างๆ รวมทั้งชาเขียว
  • สาร Thearabigens ในชาสีดำ (ชาจีน)
  • สาร Capsaicin ในพริก

สารจากกระเทียม หัวหอม ถั่วต่างๆ ธัชพืชต่างๆ สารเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ตรวจพบในอาหารที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ในฐานะที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อร่างกายรับประทานเข้าไปแล้ว ก็จะไปเสริมกับสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง เพื่อขจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจากขบวนการเผาผลาญอาหาร (Metabolism) และจากที่ได้รับจากภายนอก ดังได้กล่าวมาข้างต้น

ปัจจุบันเชื่อว่า "อนุมูลอิสระ" เป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเสื่อม, ชราภาพ, เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหนาตัวจากไขมันอุดตัน (โคเลสเตอรอล ทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระก่อน (Oxidized Cholesterol) แล้วจึงกระตุ้นให้เกิดขบวนการหนาตัวของหลอดเลือดต่อๆ มาหลายขบวนการ โรคสมองเสื่อม (อนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับสารโปรตีนบางชนิด กระตุ้นให้เกิดขบวนการสะสมกากโปรตีนเหล่านี้ จนสมองเสื่อมลงเรื่อยๆ ฯลฯ และจนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สังเคราะห์ขึ้นมาใช้ในรูปแบบของยา มีเพียงสารสังเคราะห์เลียนแบบสารธรรมชาติมาใช้เท่านั้น เช่น วิตามินต่างๆ เป็นต้น

สารต้านอนุมูลอิสระส่วนใหญ่ จึงยังต้องพึ่งพิงจากอาหารเป็นหลัก เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ทรงพลังที่สุดในปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : นพ.ทวีสุข พงศ์นคินทร์
ศูนย์ : อายุรกรรม
ปรึกษาอายุรแพทย์ : 02-391-0011