มาฝึกกายบริหาร ช่วยบำบัดอาการเวียนศีรษะ

เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว

อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยอาการหนึ่งของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ อาการเวียนศีรษะนี้สาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ความผิดปกติของเส้นประสาท การทรงตัว หรือสมอง เป็นต้น การบำบัดรักษาอาการโรคเหล่านี้ควรรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น

ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการทำงานของอวัยวะการทรงตัว เส้นประสาทการทรงตัว หรือสมองที่เกี่ยวข้อง ทราบได้จากการตรวจร่างกาย และจากาารทดสอบการทรงตัวที่เรียกว่า Electronystagmography พบว่ามีการทำงานของระบบการทรงตัวบกพร่องไป คือทำงานน้อยกว่าปกติ บางรายอาจไม่ทำงาน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีปัญหาคือ มีอาการวิงเวียนอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวศีรษะ หรือใช้สายตา แม้จะไม่มีอาการเวียนแบบหมุนแล้วก็ตาม บางรายยังคงเสียการทรงตัว หรือมีอาการโคลงเคลง

การบำบัดรักษาที่สำคัญ

การฝึกกายบริหาร ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัว เพื่อช่วยบำบัดรักษาอาการเวียนศีรษะที่มีอยู่ หรือช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเลือกสถานที่ฝึกกายบริหารที่กว้างพอ และปลอดภัย ไม่ควรมีของเกะกะ ซึ่งอาจสะดุดล้มได้ง่าย ควรมีบุคคลอื่นอยู่ใกล้ๆ คอยช่วยเหลือ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มฝึกทำใหม่ๆ

วิธีฝึกกายบริหาร

ให้ฝึกตามขั้นตอนต่างๆ ที่แนะนำ โดยในระยะแรกให้เริ่มฝึกเพียง 2-3 ครั้งต่อวัน แล้วต่อไปจึงค่อยฝึกทำเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในช่วงแรกของการฝึก อาจรู้สึกว่ามีอาการเวียนศีรษะเกิดขึ้นบ้าง ไม่ควรวิตกกังวล และควรอดทน เพราะอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การเสียการทรงตัวก็จะลดลงตามลำดับ

ขั้นตอนที่ 1 การบริหารศีรษะ
ท่าที่ 1 หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง สลับไปมา เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ เร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ท่าที่ 2 ก้มศีรษะไปด้านหน้า แล้วค่อยๆ เงยขึ้นจนตั้งตรง แล้วแหงนต่อไปด้านหลัง เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ เร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 2 การบริหารศีรษะร่วมกับสายตา (ภาพนิ่ง)
ท่าที่ 1 มองภาพหรือวัตถุที่อยู่บนกำแพง หรือโต๊ะ ในระยะห่าง 3-4 ฟุต

ท่าที่ 2 ในขณะที่มองภาพหรือวัตถุในท่าที่ 1 ให้หันศีรษะจากด้านซ้ายไปด้านขวา แล้วหันกลับไปทางซ้าย สลับไปมา โดยที่ตายังจ้องมองภาพหรือวัตถุเดิมตลอดเวลา เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ ทำเร็วขึ้น (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ท่าที่ 3 ในขณะที่มองภาพหรือวัตถุในท่าที่ 1 ให้ก้มแล้วเงยศีรษะขึ้นลง โดยที่ตายังจ้องมองภาพหรือวัตถุเดิมตลอดเวลา เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ ทำเร็วขึ้น (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 3 การบริหารศีรษะร่วมกับสายตา (ภาพเคลื่อนที่)
ท่าที่ 1 ถือรูปภาพหรือสิ่งของไว้ข้างหน้า ให้ห่างจากตาประมาณ 1 ช่วงแขน

ท่าที่ 2 เคลื่อนรูปภาพจากซ้ายไปขวา ในขณะเดียวกันหันศีรษะจากขวาไปซ้ายสลับกัน โดยที่ตายังจ้องมองรูปภาพตลอดเวลา เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ ทำเร็วขึ้น (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ท่าที่ 3 เคลื่อนรูปภาพจากบนลงล่าง ในขณะเดียวกันเงยศีรษะ และก้มศีรษะสลับกันโดยที่ตายังจ้องมองรูปภาพตลอดเวลา เริ่มต้นทำช้าๆ แล้วค่อยๆ ทำเร็วขึ้น (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 4 การบริหารการทรงตัว - ท่ายืน
ท่าที่ 1 ยืนตัวตรง เท้าชิด กอดอก

ท่าที่ 2 ในขณะที่ยืนมในท่าที่ 1 ให้หันศีรษะจากซ้ายไปขวาสลับไปมา ค่อยๆ ทำช้าๆ แล้วเร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ท่าที่ 3 ในขณะที่ยืนมในท่าที่ 1 ให้เงยศีรษะขึ้นลง ค่อยๆ ทำช้าๆ แล้วเร็วขึ้นตามลำดับ (ทำติดต่อกันอย่างน้อย 5-10 ครั้ง)

ขั้นตอนที่ 5 การบริหารการทรงตัว - ท่าเดิน
ท่าที่ 1 เดินต่อเท้า โดยให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าหลัง ต่อเป็นเส้นตรง

ท่าที่ 2 เมื่อทำท่าที่ 1 ได้ดีแล้ว ขั้นต่อไป ควรฝึกทำโดยหลับตาเดินต่อเท้า (ควรมีญาติอยู่ใกล้ๆ เพื่อคอยระวังจะล้ม)

หลังจากฝึกกายบริหารดังกล่าวจนอาการใกล้เป็นปกติ ขั้นตอนต่อไปท่านควรเลือกเล่นกีฬาที่ช่วยบำบัดอาการวิงเวียนศีรษะ ได้แก่ เทนนิส แบดมินตัน ปิงปอง กอล์ฟ หรือกีฬาอื่นที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวศีรษะและลำตัว เพราะจะช่วยให้ท่านมีการปรับตัวของระบบการทรงตัวได้ดีขึ้น

เรียบเรียงโดย : พญ.วิไลลักษณ์ ทรงศรีสง่า
ศูนย์ : หู คอ จมูก
ปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก : 02-391-0011