ครรภ์เป็นพิษ (Toxemia of pregnancy)

ครรภ์เป็นพิษ.. (Toxemia of pregnancy) หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า Preeclampsia (พรี-อี-แคลมป์-เชีย)

เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ มักเกิดขึ้นในระยะครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์

เมื่อไหร่ที่หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Preeclampsia

เมื่อสูติแพทย์ตรวจพบว่าหญิงตั้งครรภ์ มีความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโปรตีนในปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะให้การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงเมื่อความดันโลหิตค่าบน (Systolic) สูงกว่าหรือเท่ากัน 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ ความดันมีค่าล่าง (Diastic) สูงกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท ตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป คงที่อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ส่วนการมีโปรตีนในปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญ หมายถึง มีโปรตีนมากกว่าหรือเท่ากับ 300 มิลลิกรัมในปัสสาวะที่เก็บตลอด 24 ชั่วโมง แต่จะเห็นได้ว่าวิธีนี้ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์เหล่านี้อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ดังนั้นในการปฏิบัติจริงแล้วหญิงตั้งครรภ์รายที่มีค่าความดันโลหิตสูงเท่ากับ หรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีโปรตีนในปัสสาวะ 1+ จากการตรวจด้วยแผ่านตรวจ (Urine dipstick) ในปัสสาวะเพียงครั้งเดียว สูติแพทย์จะให้การวินินฉัยเบื้องต้นเป็น Preeclampsia และในการรักษาตามแนวทางของ Preeclampsia ไปก่อนในระยะเฝ้าสังเกตอาการ และรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะตามมาในภายหลัง มักวินิจฉัย Preeclamsia ในอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามการตึ้งครรภ์ที่ผิดปกติบางอย่าง สามารถทำให้เกิด Preeclampsia ในอายุครรภ์น้อยๆ ได้ เช่น การตั้งครรภ์ไขปลาอุก หรือการบวมน้ำของทารกในครรภ์ เป็นต้น

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด Preeclampsia ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์แรก, ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุน้อยต่ำกว่า 18 ปี หรือตั้งครรภ์มากกว่าอายุ 35 ปี ตั้งครรภ์แฝด ตั้งครรภ์ที่มีโรคร่วมทางอายุรกรรม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง หรือโรคไต หญิงตั้งครรภ์เหล่านี้ควารได้รับการเฝ้าระวังการเกิด Preeclampsia อย่างใกล้ชิด สาเหตุการเกิด Preeclampsia ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Preeclampsia และไม่ได้รับการดูแลรักษาจะเกิดภาวะที่รุนแรงขึ้น เรียกว่า Severe Preeclampsia มีอาการทางระบบประสาท เช่น สายตาพร่ามัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีความดันโลหิตสูงขึ้นวิกฤตสูงกว่าหรือเท่ากับ 160/110 มิลลิเมตรปรอท และมีการชักในที่สุด ที่เรียกว่า Eclampsia เป็นภาวะแทรกอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยขณะตั้งครรภ์ และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลก รวมทั้งอาจทำให้ทารกในครรภ์ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้ ยังมีภาวะแทรกซ้อนและโรคอีกหลายชนิดที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์

การเสนอความรู้ในบทความที่มีจุดประสงค์เพื่อเชิญชวนให้หญิงตั้งครรภ์ได้ไปฝากครรภ์ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเมื่อทราบว่าตนตั้งครรภ์ เพื่อสูติแพทย์จะได้ให้การดูแลเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน และโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที และเพื่อให้บรรลุสมความปรารถนาของครอบครัว นั่นคือมารดาและทารกแข็งแรงปลอดภัย กลับคืนสู่ครอบครัวอย่างมีความสุข

เรียบเรียงโดย :
ศูนย์ : สูติ-นรีเวช
ปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ : 02-391-0011