ปวดหัวปวดตา

ปวดหัว เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุก็มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่บางสาเหตุก็เพียงทำให้เกิดความรำคาญ และบางครั้งก็หาสาเหตุไม่พบ

สาเหตุ ที่ทำให้ปวดหัวมีอยู่มากมาย แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  • ความเครียดของกล้ามเนื้อ
  • ไมเกรน
  • โรคของสมอง ตา หู โพรงจมูก และฟัน

ความเครียดของกล้ามเนื้อ
             ปวดหัวสาเหตุนี้ มักพบบ่อยๆ คนไข้จะปวดหัวจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อแถวต้นคอ และท้ายทอย อาการปวดมักจะไม่มีตำแหน่งที่แน่นอน มักจะปวดร้าวไปที่บริเวณขมับและหน้าผาก หรือกระบอกตา อาการปวดแบบนี้อาจเกิดจากความเครียดในการทำงาน นอนผิดท่า นอนตกหมอน เป็นต้น
             การปวดหัวจากความเครียดของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับตา คือการปวดกระบอกตา หลังจากทำงานที่ละเอียด หรือต้องใช้สายตา เช่น งานฝีมือ หรืออ่านหนังสือตัวเล็กๆ นานๆ พวกนี้จะมีอาการปวดกระบอกตา และอาจร้าวไปถึงท้ายทอยได้
             สาเหตุ เกิดจากล้ามเนื้อตาล้า หรือกล้ามเนื้อตา ที่ทำงานเกี่ยวกับการเพ่งไม่แข็งแรงคือเพ่งไม่เก่งนั่นเอง

ไมเกรน
             มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว ตามด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์หงุดหงิด อาจจะเห็นภาพมัวไปชั่วขณะ หรือเห็นแสงไฟแลบหรือฟ้าแลบกับอาการปวดหัวก็ได้ พวกนี้อาจจะมีประวัติทางครอบครัวร่วมด้วย จากโรคต่างๆ เช่น โรคของสมอง ตา หู โพรงจมูก และฟัน เช่น ความดันโลหิตสูง จากสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีเลือดออกในเยื่อบุสมองในรายที่เคยได้รับอุบัติเหตุ จากไซนัส จากหูน้ำหนวก จากฟันผุ ในที่นี้จะพูดเฉพาะอาการปวดหัวที่เกี่ยวข้องกับตาเท่านั้น

กล้ามเนื้อตาล้า
             กล้ามเนื้อตาล้า คือ อาการปวดหัว ปวดตา ที่เกิดขึ้นเวลาทำงานที่ต้องใช้สายตาใกล้ๆ ในงานที่ละเอียดคนเหล่านี้จะทำงานใช้สายตาใกล้ๆ นานๆ ไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อตาที่ใช้มองใกล้ หรือรวมตัวเพ่งในที่ใกล้นั้นไม่แข็งแรงพอ พูดง่ายๆ คือเพ่งไม่เก่งนั่นเอง คนไข้จะมีอาการปวดตา ปวดหัว อาจจะปวดที่กระบอกตาและร้าวไปถึงท้ายทอยได้ บางครั้งก็ตาลายเวลาอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ๆ อาการนี้มักพบในเด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องอดนอนอ่านหนังสือนานเป็นเวลานาน หรือเล่นวีดีโอเกมส์นานๆ อีกกลุ่มที่พบได้คือ กลุ่มที่อายุเริ่มเข้า 40 ปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้แว่นดูใกล้ คือแว่นตายาว หรือแว่นคนแก่เข้าช่วย

การรักษา
             ในกรณีที่ปวดตาจากกล้านเนื้อตาล้านี้ ควรจะพบจักษุแพทย์ก่อน เพื่อดูว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสายตาหรือไม่ ถ้ามีก็ควรแก้ไข โดยใส่แว่นในขนาดที่ถูกต้อง คนที่มีอายุเริ่มเข้า 40 ปี ก็อาจจะต้องตัดแว่นดูใกล้ หรือแว่นสายตายาวเข้าช่วย
             ในกรณีที่สายตาปกติดี หรือแก้ไขปัญหาสายตาแล้วยังปวดหัว หรือปวดตาอีก ก็ควรฝึกการเพ่งของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยถือปากกาหรือดินสอไว้ห่างสุดแขนแล้วเพ่งดูปลายปากกาหรือดินสอนั้น ค่อยๆ เอาปากกาหรือดินสอเข้าหาตัวช้าๆ ขณะเดียวกันก็เพ่งดูปลายปากกาหรือดินสอตลอดเวลา โดยต้องเห็นภาพปลายปากกาหรือดินสอนั้นชัดเจน และเป็นภาพเดียวตลอดเวลา ถ้าเห็นเป็น 2 ภาพ หรือเริ่มเห็นไม่ชัดแสดงว่าตาเริ่มไม่รวมตัว หรือเพ่งไม่ได้แล้วต้องยืดแขนถอยออกไป จนกระทั่งเห็นภาพชัดใหม่ แล้วเริ่มเพ่งใหม่โดยค่อยๆ เอาปากกาหรือดินสอเข้าหาตัวมากขึ้นๆ ทำเช่นนี้ครั้งละ 10-15 หน วันละ 3-5 ครั้ง
             ในกรณีที่ฝึกเองลำบาก อาจจะมาฝึกกับเครื่องฝึกกล้ามเนื้อตา (Synoptophore) ได้ โดยเครื่องนี้จะช่วยในการฝึกระยะเริ่มแรกให้ง่ายขึ้น หรือในรายที่ล้ามากๆ จะให้ได้ผลเร็วดีกว่าทำเองที่บ้าน
             ควรอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ละเอียดหรือต้องใช้สายตาในที่ๆ มีแสงสว่างดีพอ และควรมีการพักระหว่างทำงานบ้างเป็นช่วงๆ
             เด็กๆ ควรนอนแต่หัวค่ำ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะมีเด็กหลายๆ คนที่อดนอนและปวดหัวในตอนบ่ายๆ จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ

สายตาผิดปกติ
             สายตาผิดปกติ พวกนี้มักจะมีอาการปวดหัวไม่มาก แต่ในกรณีที่สายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือรายที่มีสายตาเอียงมากๆ พวกนี้จะทำให้ปวดหัว ปวดตาได้ การรักษาพวกนี้จำเป็นต้องตรวจเรื่องสายตาและแก้ไขด้วยการใช้แว่น

ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
             คนไข้มักจะมีอาการปวดหัว ปวดตา ตามัว อาการปวดหัวมักรุนแรง และทานยาแก้ปวดก็ไม่หาย ตาอาจจะแดง เคืองตา น้ำตาไหล ตรวจพบว่าความดันในลูกตาสูงมาก โรคนี้ควรรีบมาพบจักษุแพทย์อย่างรีบด่วน และต้องได้รับการรักษาให้ทันท่วงที มิฉะนั้นความดันในลูกตาจะกดประสาทตา และถ้าทิ้งไว้นานเข้าก็จะกดจนตาบอดได้

สรุป
             อาการปวดหัว เป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย และเป็นได้ในทุกคนและทุกวัย สาเหตุมีต่างๆ กัน ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอันตราย หายได้ง่ายๆ โดยการรับประทานยาแก้ปวด แต่อาการปวดหัวบางชนิดอาจจะเป็นอันตรายแก่สายตา หรือบางครั้งเป็นอันตรายถึงขึ้นเสียชีวิตได้

ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดหัวร่วมกับอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น มีไข้ คอแข็ง สายตามัวลง มีอารมณ์และความประพฤติเปลี่ยนไป มีอาการปวดหัวรุนแรงจนตื่น มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนพุ่ง เป็นต้น อาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และแก้ไขให้ทันท่วงที ถ้าเกี่ยวกับตาหรือสายตา จักษุแพทย์ก็สามารถช่วยตรวจหาสาเหตุที่เกี่ยวกับตาได้ หรือส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาตามความเหมาะสมต่อไป

เนื้อหาโดย : ศูนย์ตาโรงพยาบาลสุขุมวิท 
ปรึกษาปัญหาเรื่องตาได้ที่ 
02391-0011 ต่อ 601, 602