ผู้ป่วยเบาหวานกับโรคตา

ในผู้ป่วยเบาหวานมีการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาอย่างไรบ้าง ?

ภายหลังจากผู้ป่วยเป็นเบาหวานมาเวลาประมาณ 15 ปี แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาท 3 ชนิด คือ

การเปลี่ยนแปลงแบบเริ่มต้น หรือ Background Diabetic Retinotathy ที่จอประสาทตาจะมีเส้นเลือดโป่งออกมา (Microaneurysim) คล้ายลูกประคำลูกเล็กๆ เส้นเลือดที่ผิดปกติจะแตกง่าย เมื่อแตกออกจะมีเลือดออกบนจอประสาทตา นอกจากนั้นยังมีการจับตัวของสารประเภทไขมันสีขาวๆ บนจอประสาทตา (Hardexudate) และอาจมีหรือไม่มีอาการขาดเลือดเลี้ยงเส้นประสาทขนาดเล็กบนจอประสาทตา การเปลี่ยนแปลงแบบ Proliferative Diabetic Retinopathy หลังผ่านระยะการเปลี่ยนแปลงแบบที่ 1 มาแล้วสักระยะหนึ่ง ก็จะเกิดมีเส้นเลือดใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Retinal Neovasculari Zation เส้นเลือดเหล่านี้จะแตกง่าย ทำให้เกิดเลือดออกบนจอประสาทตา เมื่อเลือดที่ออกมามีจำนวนมากขึ้นก็จะไหลเข้าไปในวุ้นลูกตา เรียกว่า Vitreous Hemorrhage เลือดเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยตามัวลงมากทันที นอกจากมีเส้นเลือดใหม่เกิดขึ้นแล้ว จะมีแผ่นพังผืดงอกบนจอประสาทตาดึงจอประสาทตาให้หลุดลอก เรียกว่าเกิด Tractional Retinal Detachment ทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้ การเกิดบวมที่จุดศูนย์กลางจอประสาทตา (Macular Edema) ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาแบบที่ 1 หรือ 2 อาจเกิดมีการบวมที่จุดศูนย์กลางจอประสาทตา เรียกว่า Macular Edema ได้ จะทำให้ผู้ป่วยตามัวลงมาก

จักษุแพทย์ ช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานตาบอดได้อย่างไร ?

เมื่อผู้ป่วยเบาหวานมาพบจักษุแพทย์ๆ ก็จะทำการตรวจตาโดยละเอียด ได้แก่ วัดสายตา วัดความดันลูกตา การตรวจด้วย SLIP lamp การตรวจลักษณะของจอรับภาพ ถ้าพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่จอรับภาพ ก็จะพิจารณาว่าอยู่ในระยะใด

การรักษาผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเข้าจอประสาทตา

ถ้าจอรับภาพผู้ป่วยอยู่ในระยะ Background Diabetic Retinopathy ยังไม่มีการบวมที่ศูนย์กลางจอประสาทตา จักษุแพทย์จะทำการถ่ายภาพจอประสาทตาเก็บไว้ในรายงานประวัติ โดยจะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่ายังไม่ต้องรับการรักษาแต่อย่างใด แต่ผู้ป่วยควรมารับการตรวจทุกๆ 2 เดือน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตา ถ้าพบว่าจอประสาทตาอยู่ในระยะ Proliferative Diabetic Retinopathy ผู้ป่วยจำเป็นต้องการรักษาโดยการฉายแสงเลเซอร์ที่จอประสาทตา โดยการฉายจะแบ่งเป็นครั้งๆ ไม่เกิน 6 ครั้งต่อดวงตา 1 ข้าง การกระทำเช่นนี้ สามารถป้องกันและรักษาของผู้ป่วยเบาหวาน ให้สามารถมองเห็นได้อีกครั้งต่อไป ในผู้ป่วยที่พบว่า มีการบวมที่ศูนย์กลางจอประสาทตา จักษุแพทย์ก็จะส่งผู้ป่วยไปรับการถ่ายรูป และจะทำการฉีดสารฟลูออเรสซีนเข้าที่เส้นเลือดดำบริเวณแขนผู้ป่วย แล้วทำการถ่ายภาพจอประสาทอีกครั้งหนึ่ง จำนวนหลายภาพ เมื่อได้ภาพที่ล้างมาเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาดูอย่างละเอียด แล้วจึงใช้แสงเลเซอร์ฉายลงบนจุด หรือบริเวณที่มีการรั่วของน้ำเหลืองบริเวณรอบๆ จุดศูนย์กลางจอประสาทตา ผู้ป่วยก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น ในรายที่มีเลือดออกที่จอประสาทตา และไหลเข้าไปในวุ้นลูกตา หรือมีการดึงของพังผืด ทำให้จอประสาทตาลอก จักษุแพทย์จะทำการผ่าตัดโดยเครื่องมือ และวิธีการพิเศษเฉพาะทางที่เรียกว่า Vitrectomy เพื่อตัดและดูดเอาวุ้นลูกตาที่มีเลือดปนอยู่ออกมาจากดวงตา ตัดพังผืดที่ดึงจอประสาทตาออกและฉายแสงเลเซอร์เข้าไปบนจอประสาท ขณะทำการผ่าตัดนี้ด้วย ส่วนมากภายหลังผ่าตัดชนิดนี้แล้วผู้ป่วยมักจะเห็นดีขึ้นกว่าเดิม

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน

ควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจตาอย่างละเอียด อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตา การพบจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และมาตรวจตรงตามนัด จะเป็นการป้องกันโรคเบาหวานขึ้นตาได้ และแพทย์สามารถรักษาได้ทันก่อนมีการเสียหายเกิดขึ้น จนถึงขั้นตาบอดถาวรได้

เนื้อหาโดย : ศูนย์ตาโรงพยาบาลสุขุมวิท 
ปรึกษาปัญหาเรื่องตาได้ที่ 
02391-0011 ต่อ 601, 602