ท้องผูกในเด็ก

ท้องผูก... เป็นปัญหาที่พบบ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัญหาการเรียนรู้ที่จะควบคุมการขับถ่าย ทางการแพทย์นั้น "ท้องผูก" หมายถึง การถ่ายอุจจาระเป็นก้อน แข็งเป็นลำขนาดใหญ่ บางครั้งอาจมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ อาจมีอาการเจ็บปวด ถ่ายลำยากต้องออกแรงเบ่งมาก บางครั้งอาจมีอาการแสดงของความพยาบามกลั้นอุจจาระ ร่วมกับมีอุจจาระเล็ด ปวดท้อง เบื่ออาหาร อิ่มเร็ว โดยอาการเหล่านี้จะหายเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระออกจำนวนมาก

ผลจากการที่มีอุจจาระคั่งค้างมาก หรือไม่ถ่ายเป็นเวลานาน ทำให้เด็กไม่อยากอาหาร อิ่มเร็ว ทานแล้วปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายลำบาก ถ่ายเจ็บ มีเลือดออก มีอุจจาระเล็ดราดได้ 

การดูแลรักษา

การปรับเปลี่ยนอาหาร

เด็กควรทานนมไม่เกินวันละ 32 ออนซ์ และผสมให้มีความเข้มข้นตามสัดส่วนที่ถูกต้อง เลือกนมที่มีสูตรผสมน้ำตาลแลคโตส จะดีกว่าสูตรนมที่มีน้ำตาลซูโครส มอลโทส เด็กซตริน นมที่เติมกากใยอาหาร โอลิโกแซคคาไรด์ และจุลินทรีย์ (โปรไบโอติค) ทำให้อุจจาระนิ่ม และถ่ายง่าย ทานอาหารที่มีกากใยอาหาร ข้าวซ้อมมือ ลูกเดือย ผักต่างๆ อาหารช่วงระบาย เช่น ลูกพรุน น้ำมะขาม มะละกอ กล้วยสุก ลูกแก้วมังกร

จัดให้เด็กนั่งถ่าย

5-10 นาที หลังมื้ออาหาร โดยคุณพ่อ คุณแม่ให้ลูกนั่งถ่ายอย่างสงบ ไม่รีบร้อน ไม่เครียด อาจจะชวนคุย เล่านิทานให้ฟัง เมื่อลูกถ่ายได้ก็ให้ชมเชย ควรจัดหาหรือทำให้ส้วม หรือที่นั่งถ่ายให้น่านั่ง ไม่น่ากลัว สร้างบรรยากาศและอารมณ์ให้ผ่อนคลายในระหว่างการขับถ่าย จะช่วยทำให้ฝึกการขับถ่ายได้สำเร็จ หลังการปรับเปลี่ยนอาหาร และได้ฝึกระบบขับถ่ายแล้ว ถ้าเด็กยังมีปัญหาท้องผูกอยู่ ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยารักษาต่อไป เนื่องจากท้องผูกอาจทำให้เป็นปัญหาเรื้อรังได้ ปัญหานี้จึงต้องการความร่วมมือกันระหว่างแพทย์ พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก ครู ในการให้กำลังใจแก่เด็ก ฝึกการขับถ่ายและชมเชยเมื่อทำได้สำเร็จ ต้องใช้ความอดทนในการติดตามการรักษา เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้อาการท้องผูกกลับมาเป็นใหม่อีก

พญ.ภาณี เอี่ยมฐิติวัฒน์
กุมารแพทย์ประจำคลินิกเด็ก
โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร.02-391-0011 ต่อ 200