ภาวะชักจากไข้สูง

ภาวะชักจากไข้สูง (Febrile convulsion) เป็นภาวะที่ชักในขณะที่มีไข้ โดยสาเหตุมิได้เกิดจากการติดเชื้อทางระบบประสาท หรือเคยเป็นโรคลมชักมาก่อน ภาวะนี้พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 15 ปี ส่วนใหญ่เด็กมักปกติดี ก่อนมีไข้ชัก และเมื่อหยุดชักแล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือ มักมีการชักซ้ำเมื่อมีไข้ต่อมาได้ถึงร้อยละ 30 ในเด็กที่ชัก เพราะไข้เหล่านี้มีประวัติในครอบครัวสูงถึงร้อยละ 50 และมีประวัติในบิดา-มารดาถึงร้อยละ 10 ดังนั้นพันธุกรรมจึงมีบทบาทสำคัญต่อภาวะไข้ชัก

ภาวะไข้ชักมีผลต่อความฉลาดของเด็กหรือไม่ ?

พบว่าเด็กที่มีภาวะนี้มีสติปัญญา และพฤติกรรมเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ และไม่พบว่ามีเด็กตาย หรือพิการจากภาวะนี้ แต่ปัญหาสำคัญ คือ การเกิดชักซ้ำ พบว่า
ร้อยละ 30 ของคนไข้ชักซ้ำได้อย่างน้อย 1 ครั้ง
ร้อยละ 9 ของคนไข้ชักซ้ำ 3 ครั้ง หรือมากกว่า
ร้อยละ 75 เกิดชักซ้ำภายใน 1 ปี และร้อยละ 90 เกิดภายใน 2 ปี หลังการชักครั้งแรก
โอกาสเสี่ยงของการชักซ้ำ คือ ชักครั้งแรกอายุน้อยกว่า 1 ปี และมีประวัติการชัก เพราะไข้ในครอบครัว
โอกาสเกิดโรคชักภายหลังค่อนข้างน้อย (น้อยกว่า 5%)

การดูแลรักษา
อย่าปล่อยให้เด็กมีไข้สูง พยายามเช็ดตัว และให้ยาลดไข้ทุก 4 ชั่วโมง ขณะชักให้จับเด็กนอนหงาย ตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง ดูให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรอยู่ในปาก และไม่กัดลิ้นตัวเอง ห้ามกรอกยา หรือน้ำเข้าปาก ไม่จำเป็นต้องเอาอะไรสอดหรืองัดเข้าปากเด็ก พยายามเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา หรือให้ไข้ลดเร็วที่สุดและรีบไปพบแพทย์

สาระน่ารู้โดย: พญ.จริยา ศาสตรสาธิต
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
โทร.02-391-0011 ต่อ 200