รพ.สุขุมวิทนำเข้า “หุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง” ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

เวชศาสตร์ฟื้นฟู

“ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู” เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยที่ต้องเผชิญความทุกข์จากกรณีหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกที่ส่งผลให้เกิด “ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต” ตามมา พร้อมทั้งยังพร้อมรองรับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว อย่างเช่นผู้มีปัญหาอาการบาดเจ็บไขสันหลังหรือเส้นประสาท ทำให้ต้องทนทุกข์ทั้งจิตใจและร่างกายที่ไม่อาจขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้เหมือนก่อนที่ได้เจอพิษภัยจากโรคทำให้ไม่อาจพึ่งพาช่วยเหลือตนเองได้โดยลำพัง ทั้งนี้โอกาสที่จะฟื้นคืนสภาพจำเป็นต้องอาศัยคำแนะนำจากคุณหมอผู้ชำนาญการเป็นหลักโดยเฉพาะในเรื่องของการรักษาทั้งใช้ยา และการเข้าสู่กระบวนการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยนวัตกรรมก้าวหน้าทางการแพทย์ภายใต้การดูแลของนักกายภาพ และนักกิจกรรมบำบัดนอกเหนือจากคุณหมอเพื่อช่วย “กระตุ้น” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว อย่างเช่น “การฝึกเดิน” ที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปถึงขั้นมีการนำหุ่นยนต์รุ่นใหม่ “หุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง” (Exoskeleton) ซึ่งผ่านการการรับรองคุณภาพมาช่วยให้ผู้ป่วยได้ฝึกเดินเสมือนจริงโดยลักษณะการเดินได้ความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังเดินอยู่บนพื้นจริง ๆ โดย “นพ.ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู” ประจำ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” อธิบายว่า

“...สำหรับโรคหลอดเลือดสมองนั้น คนไข้มาด้วยอาการของอัมพาตครึ่งซีกเป็นส่วนใหญ่นะครับ มีส่วนน้อยที่อาการหนักอาจมีอาการอัมพาตครึ่งซีกทั้ง 2 ซีก ก็จะเห็นภาพว่ามีอาการอัมพาตไปทั้งตัว ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มที่มีอาการอัมพาตครึ่งซีกนะครับ หุ่นยนต์ฝึกเดิน(Exoskeleton) สามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่เริ่มแรก ก็หมายความว่าหลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว หลังจากที่พ้นระยะเฉียบพลันไปแล้วเข้าสู่ระยะกึ่งเฉียบพลันเราสามารถที่จะฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์(Exoskeleton) ได้เลย แล้วก็มีประสิทธิภาพสูงมากในการที่จะทำให้คนไข้ฟื้นคืนการเดินได้ ซึ่งเมื่อก่อนเราได้อาศัยนักกายภาพ 2-3 คนช่วยกันจับแขนขาในการพยุงตัวคนไข้ เพื่อให้ฝึกเดินแต่ด้วยในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง (Exoskeleton) ขึ้นที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไป คือผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาการบาดเจ็บไขสันหลังหรือเส้นประสาท หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น จะได้ฝึกเดินและฝึกกล้ามเนื้อตามแบบการเดินเสมือนจริง ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหมุดบิดช่วงข้อเข่า เอว สะโพก มีการเอียงตัวไปด้านหน้าและด้านข้างได้อย่างเป็นธรรมชาติ จากการเดินบนพื้นจริงไม่ใช่เดินบนลู่วิ่ง และไม่ต้องล็อคเอว ล็อคเชิงกรานไว้เหมือนอย่างหุ่นยนต์รุ่นเก่าๆ ช่วยให้เกิดกล้ามเนื้อบริเวณเอว หลัง และสะโพกฟื้นตัวได้ดีมีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเซลล์สมองตามมาเลยทีเดียวครับ... ”

ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็น Golden Period ในการฟื้นฟู!!

“นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช แพทย์ผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ฟื้นฟู” ประจำ “ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู” โรงพยาบาลสุขุมวิท ได้ให้ข้อมูลเสริมโดยระบุว่า

“...หลังจากผู้ป่วยหลอดเลือดสมองได้รับการรักษาในระยะวิกฤตแล้วผู้ป่วยราว 70% มักจะมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ ได้แก่ อาการอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง มีปัญหาเรื่องเวลาพูด เวลากลืนน้ำหรืออาหาร โดยในบางรายจะมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับพวกการสื่อความหมาย เพราะเหตุนี้หลังจากที่พ้นระยะวิกฤตแล้วตามหลักการคือเราจะต้องให้คนไข้เข้าฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็นโดยใช้เครื่องมือหรือวิธีการอื่น ๆ ที่หลากหลายก็ตาม ซึ่งคนไข้หลาย ๆ รายที่พ้นระยะวิกฤตไปแล้วรวมทั้งญาติไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวครับ และมีบางรายได้ไปใช้การรักษาด้วยการนวดอย่างเดียว ซึ่งต้องเรียนว่าหลังจากที่พ้นวิกฤติจากโรคหลอดเลือดในสมองแล้วในช่วง 6 เดือนแรกจะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียกเป็น Golden Period สำหรับการที่จะได้รับการฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูของเรา โดยอาศัยสรรพวิชาหลายอย่างช่วยเหลือด้วยหลัก Regenerative Rehabilitation Medicine ที่เราใช้การแพทย์ผสมผสานทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือกพร้อมทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด ทีมแพทย์อายุรกรรมโรคสมองและระบบประสาท และแพทย์ศัลยกรรมโรคระบบสมองและระบบประสาท พร้อมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ร่วมถึงหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง มาช่วยให้ฟื้นฟูเซลล์เส้นประสาทที่ได้รับความเสียหายให้ฟื้นตัวจากภาวะหลอดเลือดสมองให้เร็วที่สุด ถ้าเลยช่วง 6 เดือนไปแล้วการฟื้นตัวอาจจะช้าหน่อยแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถฟื้นตัวได้นะครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นช่วง 6 เดือนแรกหรือผ่าน 6 เดือนไปแล้วการทำเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็มีความสำคัญสำหรับช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูสภาพได้รวดเร็ว สามารถกลับไปมีชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุดครับ”

ข้อจำกัดที่พบบ่อยในผู้ป่วย-วิธีแก้ปัญหา

สิ่งที่เป็นข้อจำกัดซึ่งพบได้บ่อยอันดับแรกที่ “คุณหมอวรวัฒน์” ได้ถ่ายทอดไว้คือ “ภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วย” ซึ่ง ผู้ป่วย 80% ของผู้ที่เจอภาวะหลอดเลือดสมองนั้นนอกจากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้วยังจะมีปัญหา “ด้านจิตใจ” ตามมาด้วยจากการที่เคยเดินเหินได้ปกติแต่ต้องเผชิญกับภาวะแขนขาอ่อนแรง จึงเกิด “ภาวะซึมเศร้า” ตามมาโดยแต่ละคนจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน ซึ่งในรายที่เกิดภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงจะทำให้ไม่สามารถร่วมมือกับการฟื้นฟูและจำเป็นต้องมี “ทีมสหวิชาชีพ” มาช่วยฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยเพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวได้เร็วต่อไป ทั้งนี้คุณหมอได้ฝากคำแนะนำมายังญาติผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้ป่วยด้วยภาวะหลอดเลือดในสมองอย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่บ้านเฉย ๆ ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อจะได้เข้าสู่โปรแกรมเวชศาสตร์ฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ซึ่งหากทุกวันผ่านไปโดยไม่ได้ทำอะไรเลยก็จะเปรียบเหมือนการทิ้งนาทีทองในการฟื้นตัวให้สูญไปเปล่า ๆ เพราะวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายของเขาฟื้นตัวได้เร็วจะต้องอาศัยความหลากหลายอย่างละนิดอย่างละหน่อยโดยมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่ทีมแพทย์ ทีมนักกายภาพ นักกิจกรรมบำบัด รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ เพื่อออกแบบโปรแกรมที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยให้กลับมามีชีวิตได้ใกล้เคียงกับเมื่อตอนที่ยังไม่ได้เจ็บป่วยด้วยภาวะที่เป็นอยู่

เวชศาสตร์ฟื้นฟู

 นพ. ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์

นพ. ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู


นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช

นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ชั้น 9 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 971, 972



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: