รพ.สุขุมวิท” ร่วมรณรงค์ “วันเบาหวานโลก” ป้องกันโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานกับโรคไต

โรคไต

ภัยเงียบต่อสุขภาพ-ทำลายความสุขในชีวิต!!!

สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทยถือได้ว่ามีแนวโน้มประชากรกรเป็นโรคเบาหวานค่อนข้างสูงดังจะเห็นได้จากสถิติสถานการณ์โรคเบาหวานในภาคพื้นแปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ.2560 ระบุว่าผู้ป่วยชาวไทยที่เป็นเบาหวานมีจำนวนถึง 4.4 ล้านคนซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 4 รองลงมาจากประเทศจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ขณะที่มีการประเมินล่วงหน้าอีกด้วยว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 โดยจำนวนประชากรที่มีวัย 60 ปีจะเพิ่มขึ้นอีกราว ๆ 14.4 ล้านคน หรือพูดได้ว่าเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในบรรดาผู้สูงอายุทุก 5 คนก็จะมีคนเป็นโรคเบาหวาน 1 คนนั่นเอง...

ที่มา-สาเหตุ-กว่าจะรู้ตัวว่า...เป็นเบาหวาน

พญ.ทฤตมน รัตนประภาต...แพทย์ผู้ชำนาญการอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน รพ.สุขุมวิท” กล่าวถึงสาเหตุของการเป็นโรคนี้ว่า

“...ในคนปกติทั่วไปจะมีตับอ่อนทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนชื่ออินซูลิน สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้เหมาะสม แต่ในคนไข้ที่มีเบาหวานซึ่งเป็นปัญหาจากการควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี เหตุนี้จะเกิดได้ทั้งจากการที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่ได้ หรือผลิตได้แต่นำไปออกฤทธิ์ไม่ดี กลายเป็นปัจจัยทำให้การออกฤทธิ์ของอินซูลินผิดปกติไป โดยที่อาจมีกรรมพันธุ์คุณพ่อ คุณแม่ คนในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นเบาหวานอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดโรคอ้วน อ้วนลงพุง หรือน้ำหนักเกิน ส่วนนี้ทำให้เกิดภาวะต้านการออกฤทธิ์อินซูลินทำให้น้ำตาลในเลือดสูงค่ะ...”

ครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่เป็นเบาหวานจะไม่รู้ตัวและไม่มีอาการผิดปกติ จนเมื่อไปตรวจสุขภาพแล้วเจอน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากในระยะแรกที่น้ำตาลในเลือดของคนไข้เหล่านี้เพิ่มระดับขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปกติก็มักจะยังไม่มีอาการ แต่ถ้าระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นแล้วปล่อยไว้นาน ๆ จนสูงขึ้นพอสมควรจึงจะเริ่มออกอาการที่เจอบ่อยเช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย อ่อนเพลีย หรือบางรายอาจน้ำหนักลดร่วมได้ด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วราวครึ่งหนึ่งที่อาจไม่มีอาการ กว่าจะมาตรวจพบก็ผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ทำให้เป็นเบาหวานมานานพอควรจึงไม่สามารถรักษาหายได้ แต่หากมีการรักษาที่ดี ควบคุมอาหาร การออกกำลังกายที่ดี ได้รับยาที่เหมาะสมจะสามารถทำให้ระดับน้ำตาลถอยกลับไปสู่เกณฑ์ปกติได้ หรือในคนไข้กรณีพิเศษบางรายเช่น มีน้ำหนักเกินมาก ๆ ก็มีผลวิจัยระบุว่าถ้าสามารถทำให้คนไข้ลดน้ำหนักได้ โดยการปรับอาหาร ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง ทำให้ลดได้ 10 เปอร์เซ็นต์ใน 6 เดือนจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลที่สูงผิดปกติถอยกลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติได้เลย

ภาวะแทรกซ้อนเกิดได้หลายที่...รวมทั้ง “ไต”!!

การมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดซึ่งกระจายไปทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งหากเกิดภาวะหลอดเลือดในสมองตีบหรืออักเสบมากเข้าก็อาจทำให้หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้ หรือหากไปที่เส้นเลือดหัวใจก็ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และถ้าไปที่เส้นประสาทก็ทำให้เกิดการอักเสบผู้ป่วยจะรู้สึกชาปลายมือ ปลายเท้าซึ่งเจอบ่อย...นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์เจอ “ไตวาย” ได้อีก ซึ่งถือเป็น “ภาวะแทรกซ้อน” ที่ต้องระวัง ซึ่งประเด็นนี้ “นพ.กวี ลิ่มบุตร...อายุรแพทย์โรคไต แห่ง รพ.สุขุมวิท” อธิบายว่า

“...ผู้ป่วยเบาหวานในระยะแรกจะไม่มีอาการทางไตนะครับถึงแม้ว่าไตจะเริ่มผิดปกติแล้ว คล้าย ๆ กับโรคไตจากทุก ๆ เหตุการเหมือนกัน การดูอาการเมื่อไตทำงานเสื่อมลงเรื่อย ๆ จะสังเกตได้ตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ เช่น บวม ความดันโลหิตสูง หรือบางคนจะมีปัสสาวะเป็นฟองมาก ๆ ได้เช่นกันครับ...ถ้าไม่รักษาเบาหวานให้ดี ปล่อยไว้นาน ๆ จะทำให้ไตเสื่อมเร็วกว่าที่ควร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วถ้าไตเสื่อมลงถึงขั้นที่เรียกว่าโรคไตระยะที่ 5 คือไม่สามารถทำงานได้แล้วก็ต้องรักษาบำบัดทดแทนไต...”

สำหรับการรักษาหลักนั้น เป็นการรักษาเบาหวานโดยควบคุมน้ำตาลให้ดีร่วมกับการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ...ลดเค็ม ลดแป้ง ลดน้ำตาล..ทั้งนี้ ในส่วนของยาแผนปัจจุบันก็มียาที่ช่วยในการชะลอความเสี่ยงของไตได้ไม่ว่าจะเป็นยาลดความดันโลหิต รวมถึงยาเบาหวานกลุ่มใหม่ในระยะ 1-2 ปีมานี้ก็พบว่าสามารถช่วยชะลอความเสี่ยงของไตได้ด้วย

ดูแลสุขภาพแบบไหนจึงช่วยให้ไกล “โรคไต”

นอกจากจำเป็นต้องรักษาโรคเบาหวานด้วยการทานยาแล้ว การควบคุมอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกน้ำตาล...พวกแป้งแล้ว ยังมีเรื่องของการกินโซเดียมหรือเกลือในอาหารรสเค็มต่าง ๆ อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมาและไตจะทำงานหนัก นอกจากนี้กรณีไตเริ่มเสื่อมแล้วก็ไม่ควรกินโปรตีนปริมาณมากเพราะจะมีส่วนทำให้ไตทำงานหนักขึ้นเช่นกัน จึงแนะนำให้เน้นบริโภคผัก-ผลไม้...แต่ไม่ว่าจะอย่างไร อาหารที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไตจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคไตด้วย จึงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไปโดยพึ่งพาปรึกษาคุณหมอที่ดูแลดีกว่า...อีกปัจจัยสำคัญที่ “คุณหมอกวี” เน้นย้ำคือเรื่อง “การกินยา”

ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังที่มีการระบุว่า ถ้ากินยารักษาเบาหวาน หรือความดันต่อเนื่องนานเข้าจะทำให้เป็นโรคไต ซึ่งไม่เป็นความจริง หากแต่ตรงกันข้ามเลยเพราะการกินยารักษาเบาหวานและความดันโลหิตสูงจะมีส่วนช่วยชะลอความเสี่ยงของไตไปด้วย ส่วนยาที่เชื่อกันว่ามีผลเสียนั้น โดยมากจะเป็นในกลุ่มที่เป็นยาแก้ปวดที่กินโดยไม่จำเป็นและกินเกินขนาด รวมทั้งพวกยาชุด และยาที่เราไม่ทราบส่วนประกอบที่ชัดเจน ยาสมุนไพรบางชนิดอาจจะมีผลต่อโรคไตได้ ดังนั้นถ้าเกิดทราบแล้วว่ามีความผิดปกติของของไต ไม่แนะนำให้กินยาเองโดยที่ไม่ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลรักษาก่อนนั่นเอง