ดูแล ไต อย่างไรให้ห่างจาก “โรคไต”

โรคไต

ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลของสารต่าง ๆ โดยจะขับของเสียออกจากร่างกายด้วยการผลิตปัสสาวะ ให้มีปริมาณส่วนประกอบและปริมาตรที่เหมาะสม นอกจากนั้นไตยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ด้วย เช่น กระตุ้นวิตามินดี (vitamin D) ควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย การสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยอิทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ไตจึงเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมาก เราจึงควรให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพไตไม่ให้เสื่อมก่อนเวลาอันควร


ข้อมูลการศึกษาจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ถึง 8 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรประเทศไทย โดยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายนับแสนราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 15-20 ต่อปี หากไม่ได้ทำการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแรกซ้อนถึงเสียชีวิตได้

โรคไต เกิดจากอะไร?

โรคไตนั้นเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม ด้านพฤติกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบันพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังบ่อยที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และนิ่วในทางเดินปัสสาว สาเหตุของโรคไตที่สำคัญในประเทศไทยอีกสาเหตุหนึ่งคือการกินยาที่มีผลต่อการทำงานของไต โดยมักพบสัมพันธ์กับการกินยาแก้ปวดปริมาณมาก หรือการกินยาสมุนไพรบางชนิด ในผู้ที่เริ่มมีความบกพร่องของไต

โรคไต เมื่อเป็นแล้วมีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการของโรคไตนั้นขึ้นอยู่กับระยะและสาเหตุของโรคไต โดยในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการแต่อาจตรวจพบได้จากการวัดความดันโลหิตหรือการตรวจเลือดและปัสสาวะคัดกรอง เมื่อการทำงานของไตลดลงเรื่อย ๆ ของเสียต่าง ๆ ในร่างกายจะมีการสะสมทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูง บวม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย โลหิตจาง ปริมาณปัสสาวะลดลง ในโรคไตบางชนิดอาจพบว่าปัสสาวะมีฟองมากกว่าปกติซึ่งบ่งชี้ว่ามีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะปริมาณมาก

5 วิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
    การดื่มน้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกายอย่างที่ทุกท่านทราบกันดี โดยทั่วไปควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วต่อวัน ขึ้นกับปริมาณน้ำที่สูญเสียไป เช่นวันที่อากาศร้อนเสียเหงื่อมากก็ควรจะดื่มน้ำมากกว่าปกติ วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าอาจดื่มน้ำไม่เพียงพอคือปัสสาวะจะมีสีเข้มกว่าปกติเนื่องจากไตพยายามเก็บน้ำอย่างเต็มที่ หากสังเกตเห็นแบบนี้แล้วควรรีบดื่มน้ำเพื่อให้ไตสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
  2. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
    ในการที่เราจะดูแลให้สุขภาพไตให้ดี การกินผักผลไม้สดเพื่อเสริมสร้าง วิตามินและ ธาตุต่าง ๆ เป็นตัวเลือกที่ดี ลดการรับประทานเนื้อแดง และอาหารที่มีไขมันสูง และที่สำคัญ กินเกลือโซเดียมไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน (นับรวมเกลือที่ละลายอยู่ในอาหารและน้ำจิ้มด้วย) และน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวันเพื่อลดการสาเหตุที่จะทำให้ไตทำงานหนัก
  3. ตรวจเช็คความดันโลหิตให้อยู่ในค่าปกติ
    ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการเกิดโรคไต โดยส่วนมากจะไม่มีอาการจึงต้องอาศัยการตรวจวัดความดันโลหิต ซึ่งในปัจจุบันสามารถตรวจวัดได้ง่ายโดยไม่ต้องเจ็บตัว ค่าความดันโลหิตปกติโดยเฉลี่ยจะมีค่าประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากพบว่าความดันโลหิตสูงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลอย่างเหมาะสม
  4. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดและแก้อักเสบเกินความจำเป็น
    ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบหลายชนิดจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า NSAIDs เช่น ไดโคลฟีแนค, นาโปรเซน , ไอบูโพรเฟน เป็นยาที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้อย่างดี แต่หากกินต่อเนื่องในปริมาณมากหรือกินโดยไม่จำเป็นอาจจะส่งผลเสียต่อการทำงานของไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้ลดลง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการผสมยาเหล่านี้หลายขนานรวมกันในยาชุดซึ่งอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดโดยไม่รู้ตัว จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาชุดโดยที่ไม่ทราบส่วนประกอบชัดเจน
  5. การออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
    อย่างที่ทุกท่านทราบกันอยู่ดีอยู่แล้วว่าการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมสิ่งที่สำคัญต่อร่างกาย ช่วยให้ระบบการทำงานของหัวใจและปอดมีประสิทธิภาพดีขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูงแล้ว ยังมีผลโดยตรงต่อความดันโลหิตและความดันภายในไตอีกด้วย ดังนั้นหากต้องการมีสุขภาพที่ดีจึงควรที่จะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

อายุเท่าไหร่ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไต?

โรคไตนั้นสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น หากมีอาการผิดปกติหรือความเสี่ยงที่สงสัยว่าจะเกี่ยวกับไต จึงควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการตรวจที่เหมาะสมเพิ่มเติม

กินเค็มแล้วเสี่ยงเป็นโรคไต จริงไหม?

รสเค็มในอาหารส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการที่มีเกลือโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเกลือโซเดียมนี้อาจจะมาในหลายรูปแบบ เช่น เกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร หรือซอสปรุงรสต่าง ๆ รวมไปถึงน้ำจิ้มหลากหลายชนิด การบริโภคโซเดียมในปริมาณที่เกินกว่าร่างกายต้องการนั้นจะทำให้ไตต้องทำงานเพื่อขับเกลือโซเดียมส่วนเกินนี้ออกมาทางปัสสาวะ ในคนที่มีปัญหาการทำงานของไตบกพร่องอาจเกิดการคั่งของโซเดียมในร่างกาย ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงหรือมีอาการบวมได้ ทำให้การทำงานของไตนั้นแย่ลงเร็วขึ้น ส่วนในผู้ที่ยังตรวจไม่พบโรคไตเองนั้นพบว่าบางรายจะมีความไวต่อเกลือโซเดียมค่อยข้างมาก เมื่อบริโภคเกลือโซเดียมปริมาณมากก็สามารถส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไตเรื้อรังด้วยเช่นกัน

นพ. กวี ลิ่มบุตร

นพ. กวี ลิ่มบุตร
แพทย์ผู้ชำนาญการอายุรกรรมโรคไต



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์อายุรกรรม
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: