TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) กับการรักษาโรคซึมเศร้า

TMS

การใช้เครื่อง TMS มีหลักการทำงานและส่งผลอย่างไรในการรักษาโรคซึมเศร้า

องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองการรักษาโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา(major depressive disorder) มาตั้งแต่ปี คศ.2008 โดยมีหลักฐานงานวิจัยที่เห็นผลการรักษาที่ชัดเจนมากถึงร้อยละ 40 ถึง 50 และชี้ให้เห็นว่า การบำบัดด้วย TMS ช่วยให้ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาระยะยาวและลดอัตราการฆ่าตัวตายในระยะเฉียบพลันลงได้ โดย TMS ส่งคลื่นแม่เหล็กผ่านกระโหลกศีรษะเข้าไปกระตุ้นเปลือกสมองโดยตรงในตำแหน่งด้านหน้าซ้าย (DLPFC, dorsolateral prefrontal cortex) ส่งผลให้มีการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในเซลล์ประสาทสมองในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์นี้ กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสารสื่อประสาทและปรับการทำงานของเซลประสาทได้โดยตรง (Neuroplasticity) อาการซึมเศร้าของผู้ป่วยจะตอบสนองการรักษาด้วย TMS เร็วช้าแตกต่างกันไปตามแต่บุคคลและความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกง่วงนอน เบาสบายในศีรษะ การหายจากอาการซึมเศร้าจะยังคงอยู่เป็นปีในกรณีส่วนใหญ่ ราวหนึ่งในสามของผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วย TMS ต้องทำการบำบัดซ้ำทุกปีเพื่อป้องกันการเกิดอาการซึมเศร้ากลับคืนมา

ปัจจุบัน แนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการรักษาด้วย TMS มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตามหลักฐานงานวิจัยน่าเชื่อถือที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดในปี คศ.2019 ได้รวบรวมมาจากการศึกษาทบทวนอย่างเป็นระบบ (Systemetic Reviews) 3 การศึกษา และจากงานวิจัยที่มีกลุ่มควบคุมแบบสุ่ม (RCT) อีก 5 เรื่อง พบว่า ในเชิงของประสิทธิภาพและความคุ้มค่า (Cost/Effectiveness) TMS ดีกว่าและคุ้มค่ากว่าการใช้ยาและการช็อตไฟฟ้า (ECT) การรักษาด้วยการกระตุ้นด้วยความถี่สูงที่สมองด้านหน้าซ้ายหน้าจำนวน 3000 คลื่นต่อครั้ง 5 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกัน 4-6 สัปดาห์ ได้ผลดีที่สุด โดยเป็นการกระตุ้นแบบซ้ำๆ (rTMS) ด้วยความถี่ 10 ครั้งต่อวินาทีต่อเนื่อง 2-5 วินาทีเป็นหนึ่งขบวน มีเว้นวรรคระหว่างขบวน 15-25 วินาที อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นแบบรัวๆ (Theta Burst) ได้ผลไม่ต่างกันและใช้จำนวนคลื่นต่อครั้งน้อยกว่า และการกระตุ้นในตำแหน่งด้านหน้ากลาง (DMPFC) ก็ได้ผลดีเช่นกัน

สำหรับการปฏิบัติบำบัดรักษาที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ รพ.สุขุมวิท ได้ควบการกระตุ้นทั้งตำแหน่งด้านหน้าซ้ายและด้านหน้ากลาง ด้วยวิธีกระตุ้นรัวๆ ใช้จำนวนคลื่นต่อครั้งน้อยกว่าและผลข้างเคียงต่ำกว่า อาการปวดมึนศีรษะและอาการชักแทบไม่มีให้เห็นเลย โดยอาการง่วงนอนหลังการรักษาพบได้เป็นส่วนใหญ่และเป็นผลดีต่อการรักษา


 นพ. ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์

นพ. ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ชั้น 9 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 971, 972



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: