ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษมีอะไรบ้าง ?



ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษมีอะไรบ้าง ?

1.การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG, ECG)


เครื่อง EKG

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG, ECG) เป็นการทดสอบที่บันทึกกระแสไฟฟ้าของหัวใจผ่านแผ่นอิเล็กโทรดขนาดเล็กที่ติดไว้ที่ผิวหนังหน้าอก แขน และขาของผู้ป่วย ขณะที่ไฟฟ้าผ่านกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจจะเกิดการหดตัว และคลายตัว เมื่อนำสัญญาณไฟฟ้ามาวางที่หน้าอกจะสามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าที่ออกจากหัวใจได้ ซึ่งให้การตรวจที่รวดเร็ว ปลอดภัยและไม่เจ็บปวด

มีประโยชน์อย่างไร ?

  • ตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • ตรวจสอบว่ามีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจดีหรือไม่ หรือตรวจสอบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ตรวจวินิจฉัยหัวใจวาย
  • ตรวจสิ่งที่ผิดปกติเช่นกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
  • ตรวจดูความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่เกิดจากความผิดปกติของเกลือแร่ เช่นโพแทสเซียมสูงหรือแคลเซียมสูงหรือต่ำ

ควรเตรียมตัวอย่างไร ?

หลีกเลี่ยงครีมและโลชั่น แป้ง ออลย์ทาตัวที่ไม่ทำให้ผิวมัน ในวันทำการทดสอบเพื่อป้องกันไม่ให้อิเล็กโทรดสัมผัสกับผิวหนัง

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีการติดอิเล็กโทรด 10 ชิ้นพร้อมแผ่นกาวที่ผิวหนังหน้าอก แขนและขา คอมพิวเตอร์สร้างภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจบนกระดาษกราฟ ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการติดอิเล็กโทรดและทำการทดสอบ

2.การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินสายพาน (Exercise Stress Test: EST)


เครื่อง EST

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยตรวจหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือใช้ประเมินประสิทธิภาพความสามารถสูงสุดของร่างกายและหัวใจในการออกกำลังกาย หรือตรวจหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่เกิดขณะออกกำลังกาย โดยผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใดๆในภาวะปกติ แต่เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะทำงานหนักขึ้นจะมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดมีอาการแสดงและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดังนั้นการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย จะทำให้แพทย์ทราบถึงอาการหรือปัญหาสุขภาพจากการตรวจสมรรถภาพหัวใจครั้งนี้ได้ โดยจะสามารถวางแนวทางในการรักษาในลำดับต่อไป ทั้งอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทานยา หรืออาจได้รับการฉีดสีสวนหัวใจ เพื่อการรักษาในลำดับต่อไป ซึ่งการตรวจสมรรถภาพหัวใจนี้นอกจากจะแม่นยำ ปลอดภัยแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย

ประโยชน์ของการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย

  • เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอกว่าเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น
  • เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ เพราะผู้มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจบางราย มักไม่แสดงอาการ
  • เพื่อประเมินประสิทธิภาพสูงสุดในการออกกำลังกาย

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย เหมาะกับใคร ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาทิ

  • อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • สูบบุหรี่
  • ไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือ ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดของอวัยวะอื่นอยู่แล้ว
  • ผู้ที่มีประวัติญาติใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ หรืออัมพาต
  • ไม่ออกกำลังกาย

นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพหัวใจ อาทิ การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อช่วยป้องกันภาวะที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน ป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลัน

3.การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)


เครื่อง ECHO

ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจโดยหัวตรวจชนิดพิเศษ เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างน้ำ และเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นก็คือหัวใจของผู้ป่วย

การตรวจวิธีนี้ ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะหัวใจโต ตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยสามารถวินิจฉัยโรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง และ อาจได้ภาพไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือผอมมาก หรือ มีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางการสะท้อนของคลื่นเสียงความถี่สูง

ควรเตรียมตัวอย่างไร ?

  • ไม่ต้องงดอาหารหรือยาที่ทานประจำก่อนการตรวจ ยกเว้นกรณีที่ต้องทดสอบร่วมกับการออกกำลักายงบนสายพาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • เจ้าหน้าที่จะติดแผ่นขั้วสัญญาณไฟฟ้า (Electrode) ไว้บริเวณทรวงอกเพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจ จากนั้นแพทย์จะใช้หัวตรวจทาด้วยเจลเย็น ตรวจดู บนผนังทรวงอกของผู้ป่วย
  • ในระหว่างการตรวจแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยหายใจออกและกลั้นไว้ช่วงสั้น ๆ เป็นพัก ๆ เพราะอากาศในปอดอาจมีผลต่อความชัดเจนของภาพที่เห็น
  • ภาพของหัวใจจะถูกบันทึกไว้ เพื่อให้แพทย์สามารถเปิดดูผลการตรวจและวินิจฉัยโรค
  • การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 20 - 40 นาที

การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เหมาะกับใคร ?

  • ผู้ที่มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก และสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจบีบตัวน้อยผิดปกติ โดยเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจเอง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผู้ป่วยมีเสียงหัวใจผิดปกติ ที่สงสัยว่ามีความผิดปกติจากลิ้นหัวใจ
  • ใช้ตรวจติดตามอาการในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด รวมทั้งผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว แต่ยังมีรอยโรคหลงเหลืออยู่
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ที่สงสัยว่าอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ

4.ตรวจวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)


เครื่อง Ct Calcium Score

คือการตรวจวัดระดับแคลเซียม หรือหินปูนที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ที่อาจเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงและจะเกิดการสะสมก่อนอาการของโรคหัวใจนานหลายปี ปริมาณแคลเซียมนี้สามารถทำนายโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) เพื่อหาทางป้องกันรักษาการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ทั้งการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต การรับประทานยา หรือแม้แต่การเข้ารับการรักษาฉีดสีและขยายหลอดเลือดหัวใจได้ทันการ ซึ่งการตรวจวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) ยังถือเป็นวิธีการที่สะดวก แม่นยำ ปลอดภัย และเชื่อถือได้ที่สุด ในการตรวจหาภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันก่อนเกิดโรค และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack)

การตรวจ CT Calcium Score เหมาะกับใคร ?

  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีค่าไขมันสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน

ควรเตรียมตัวอย่างไร ?

การเข้ารับการตรวจวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดมากมาย แค่หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน กาแฟ ชา ต่างๆ สูบบุหรี่ และการออกกำลังกายก่อนเข้ารับการตรวจ 4 ชั่วโมง



พญ. ฑิตถา อริยปรีชากุล

พญ. ฑิตถา อริยปรีชากุล
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจและหลอดเลือด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 665, 666

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube