คืนกลับชีวิตปกติจากอาการ “ปวดหลัง” เรื้อรัง

ปวดหลัง

คืนกลับชีวิตปกติจากอาการ “ปวดหลัง” เรื้อรัง

หากพูดถึงอาการปวดหลัง ถือว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยและสร้างปัญหาให้แก่คนส่วนใหญ่และเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากอาการปวดหลังที่เกิดจากในชีวิตประจำวัน ลักษณะการปวดหลังสามารถเป็นได้ตั้งแต่การปวดแบบธรรมดาแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน ปวดเสียวแปลบ จนส่งกระทบต่อการใช้ชีวิต

สาเหตุของการปวดหลังที่เกิดขึ้น

สาเหตุของอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นสามารถเกิดได้จากหลายๆ ส่วนของบริเวณหลัง ถ้าดูตั้งแต่ผิวหนังไปจนถึงส่วนของด้านในของกระดูกสันหลัง รวมทั้งบางส่วนของอวัยวะในช่องท้องก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน เช่น การปวดหลังที่เกิดจากผิวหนังด้วยโรคงูสวัด เมื่อเป็นโรคงูสวัดก็จะมีอาการปวด ปวดแสบ ปวดร้อน ซึ่งหลายคนจะเข้าใจผิดว่าเป็นโรคของอาการปวดหลัง นอกจากนี้ยังมีการปวดที่เกิดจากเส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ ของกระดูก ไปจนถึงหมอนรองกระดูกและเส้นประสาท เรียกว่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ถ้าลึกไปกว่านั้นจะเป็นการปวดบริเวณอวัยวะภายใน เช่น ท่อไตหรือมีนิ่วในท่อไตก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้

ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลัง

สำหรับอาการปวดหลังโดยส่วนใหญ่ประมาณ 80% มาจากระบบกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง ซึ่งในส่วนของกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังสาเหตุก็มาจาก 2 ส่วนใหญ่ๆ ก็คือ

  1. การใช้ที่ผิดปกติ เช่น ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืนที่ผิดปกติ ท่าก้มยกของที่ผิดปกติ ก็สามารถทำให้เกิดอาการอักเสบและปวดหลังของกล้ามเนื้อขึ้นมาได้เช่นกัน และเส้นต่างๆ เกิดการอักเสบ ในส่วนของกระดูกสันหลังก็เช่นกัน ถ้ายกของหนักๆ เรื่อยๆ หมอนรองกระดูกก็ต้องรองรับน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะเกิดการปลิ้นหรือการแตกได้และไปกดทับเส้นประสาท ทั้งนี้ในผู้สูงอายุที่กระดูกเริ่มเสื่อมสภาพถ้าใช้งานได้ไม่ดีก็อาจทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนและไปกดทับเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งการใช้ที่ผิดปกติเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่เจอ
  2. อาการปวดหลังที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม อุบัติเหตุรถยนต์ หรือว่าเกิดจากการกระแทกจากการเล่นกีฬา โดนกระแทกด้วยของแข็ง กระดูกสันหลังแตกหัก เคล็ดขัดยอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือนำไปสู่ปัญหาของการเคลื่อนไหวร่างกายได้

อันตรายเมื่อเกิดปวดหลังเรื้อรังเป็นเวลานาน

สำหรับอาการปวดหลังที่ปล่อยไว้นานจะก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าอาการปวดหลังนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าเกิดจากสาเหตุของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นต่างๆ ถ้าปล่อยเรื้อรังก็จะก่อให้เกิดความรำคาญ รู้สึกไม่สบายตัว ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันไม่ปกติ ทำให้ชั่วโมงการทำงานน้อยลงและทำให้ความแข็งแรงของหลังน้อยลงด้วย

แต่ในกรณีอาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกสันหลังและเส้นประสาท ความอันตรายจะมีความรุนแรงมากกว่า เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนเรื้อรัง ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ หมอนรองกระดูกจนไปกดทับเส้นประสาทมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออาการจะเริ่มปวดหลังและร้าวลงไปที่ขา เมื่อมีอาการปวดจะเริ่มมีอาการชาถ้าหากเป็นมากๆ จะเริ่มอ่อนแรงและไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้ปัสสาวะ อุจาระไม่ออก หรือทำให้เป็นอัมพาตขึ้นมาได้

ลักษณะของอาการปวดที่อันตราย

  1. มีอาการปวดร้าวลงขา ตั้งแต่ 2 อาทิตย์ ขึ้นไป รวมทั้งมีอาการอ่อนแรงของขาร่วมด้วยควรรีบมาพบแพทย์ทันที และทำการรักษาด้วยการผ่าตัดทันที
  2. หากมีอาการปวดหลังที่เป็นๆ หายๆ ยังถือว่าไม่ถึงขั้นรุนแรงเท่าไรนัก จึงยังไม่ต้องรีบทำการผ่าตัด สามารถเข้ามาพบแพทย์และทำกายภาพบำบัด

ทั้งนี้หากพบว่าอาการปวดหลังไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ หรืออาการปวดหลังดังกล่าวไม่บรรเทามีแต่จะเพิ่มความรุนแรง หรือมีการขยายบริเวณที่ปวดออกไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรือมีอาการชา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ขั้นตอนการวินิจฉัยอาการปวดหลัง

สำหรับการวินิจฉัยอาการปวดหลังสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ แพทย์จะต้องทราบประวัติของผู้ป่วยก่อน เพราะในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะเกิดอุบัติเหตุและไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบ ดังนั้นถ้าหากแพทย์รู้ประวัติของผู้ป่วยอาจจะวินิจฉัยสาเหตุและทำการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้หากผู้ป่วยที่ไม่ได้รับอุบัติเหตุแพทย์ก็จะทำการสอบถามหาสาเหตุการใช้งานและลักษณะการทำงานของผู้ป่วยเพราะลักษณะของการทำงานก็มีผลก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน เช่น อาชีพช่างซ่อมรถ เพราะต้องก้มๆ เงยๆ หรือเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน

เมื่อทำการตรวจร่างกายแพทย์จะดูอวัยวะว่าจุดไหนที่มีอาการแสดงให้เห็น เช่น กล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง ตึง หรือไม่ สามารถก้มหรือเงยได้หรือไม่ ซึ่งอาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงความรุนแรงและตำแหน่งภาวะของโรค หลังจากนั้นแพทย์จะทำการเอ็กซ์เรย์คร่าวๆ เพื่อดูโครงสร้างของกระดูกตามด้วยการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูเส้นประสาทและกล้ามเนื้อรอบๆ การวินิจฉัยอาจจะวินิจฉัยด้วยการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือถ้ายังมีอาการน่าสงสัยแพทย์จะทำการตรวจเส้นประสาท EMG (Electromyography) คือการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้านั่นเอง

รักษาอาการปวดหลังด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscopic Spinal Surgery

การรักษาอาการปวดหลังมีมานานมาแล้ว โดยเดิมทีจะมีการผ่าตัดด้วยการเปิดแผล หลังจากนั้นจะมีการแยกกล้ามเนื้อออกเพื่อจะไปสู่กระดูกสันหลังและทำการตัดกระดูกสันหลังบางส่วนเพื่อที่จะเข้าไปสู่ช่องกระดูกสันหลังเพื่อที่จะเข้าไปรักษาด้านใน เมื่อตัดโครงสร้างของกระดูกออกจะทำให้กระดูกอ่อนแรง ความแข็งแรงน้อยลง ดังนั้นจึงต้องสร้างความแข็งแรงด้วยการใส่น็อตเข้าไป วิธีการรักษานี้เป็นวิธีที่ทำมานานหลาย 10 ปี

แต่ในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีการรักษาอาการปวดหลังด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscopic Spinal Surgery ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องคือ การเปิดแผลขนาดเล็กเพื่อนำกล้องส่องเข้าไปในตำแหน่งที่มีอาการปวด เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนแพทย์จะทำการสอดกล้องเข้าไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย จากนั้นแพทย์จะนำตัวหมอนรองกระดูกออกไปหรืออาจจะเปิดรูขนาดเล็กเพื่อจะสอดกล้องเข้าไปซึ่งก็สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที

เทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องด้วย Endoscopic Spinal Surgery สามารถรักษาอาการปวดขาได้

การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องนอกจากรักษาอาการปวดหลังแล้วยังสามารถรักษาอาการปวดขาได้ด้วย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดขาก็คือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทข้างใดข้างหนึ่งจนทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา หรือมีกระดูกงอกเพิ่มมากขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทโดยเฉพาะในผู้สูงอายุทำให้มีอาการปวดร้าวลงขา การส่องกล้องจะช่วยขยายตัวกระดูกให้กว้างขึ้นและไปเอากระดูกที่งอกขึ้นออกไป เพื่อที่จะทำให้เส้นประสาททำงานได้ดีขึ้น ในกรณีนี้ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่

“ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscopic Spinal Surgery ต้องบอกว่าข้อดีของการผ่าตัดที่มีแผลเล็กน้อยกว่า 1 cm. ดีต่อผู้ป่วยมากๆ อย่างน้อยที่สุดแผลเล็กกว่าการผ่าตัดใหญ่แน่นอน ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นต่างๆ เสียเลือดน้อย ค่าใช้จ่ายน้อยลง ระยะเวลาในการผ่าตัดน้อยลง ทำให้ระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในกรณีการรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องถ้าหากว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่มีกระดูกสันหลังคดมากๆ และเกิดอาการบวมมาก ไม่ใช่ว่ารักษาจะไม่ได้ด้วยวิธีการส่องกล้องไม่ได้ แต่ต้องการวิธีการรักษาที่จะมาช่วยเสริมโดยใช้เทคนิคพิเศษในการใส่น็อตเข้าไปเพราะการส่องกล้องอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการรักษา”

แนวทางการดูแลตัวเองและบริหารกระดูกสันหลัง

  1. ควรดูแลเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน ท่าทางการนั่งควรนั่งให้ถูกวิธี ไม่ยกของหนัก ยืดหลังให้ตรง ผายไหล่ออก ไม่เท้าคาง ไม่ไขว่ห้าง
  2. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณหลังได้ สามารถทำได้โดยการว่ายน้ำ การเล่นโยคะ หรือการเล่นพิลาทิส อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  3. ควบคุมน้ำหนักให้ดี อย่าให้น้ำหนักมาจนเกินไป
  4. ลดการยกของหนัก การยกของหนักเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการปวดหลัง ถ้าจำเป็นจะต้องยกของหนักควรใช้กระเป๋าลากที่มีล้อหรือรถเข็นเป็นตัวช่วย

นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส

นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ชั้น 9 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 971, 972



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: