การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กช่วยแก้ปัญหาอาการปวดหลังร้าวลงขา ในสุภาพสตรีวัย 31 ปี

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท, ปวดหลังร้าวลงขา

ต้องเรียกว่านึกไม่ถึงสำหรับผู้หญิงวัยเพียง 31 ปีต้องมาเผชิญทุกข์ทรมานกับอาการปวดหลังถึงขนาดว่าปวดร้าวลงขา หลังจากที่เป็นราว ๆ 4-5 เดือน แถมยังมีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเดินไม่ไหว โดยเฉพาะเวลาเช้าหลังตื่นนอนจะลุกไม่ขึ้น รวมทั้งมีอาการชาพร้อมกับขาขวาอ่อนแรงเลยทีเดียว

แรกเริ่ม คนไข้รายนี้ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียงที่ประเทศของตนและรักษาด้วยการทานยา รวมทั้งเข้ารับการทำกายภาพบำบัด แต่ก็ยังคงมีอาการเหมือนเดิม ไม่ดีขึ้น แต่ด้วยความโชคดีที่มีเพื่อนที่เคยมีปัญหาคล้ายคลึงกัน ซึ่งเคยเดินทางมาเข้ารับการรักษาและกายขาดที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ประเทศไทย จึงได้รับคำแนะนำจากเพื่อนท่านนี้ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งเดียวกัน พร้อมกับสอบถามชื่อแพทย์ผู้ให้การรักษาจากเพื่อของตนมาด้วย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยรายนี้มีอาการปวดทรมานแบบไม่อาจทนต่อไปได้ จึงตัดสินใจเดินทางมาเข้ารับการรักษากับ นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง ที่โรงพยาบาลสุขุมวิท ทันทีที่ไปถึง หลังจากที่คุณหมอได้ซักประวัติแล้วจึงทราบถึงที่มาซึ่งมีสาเหตุมาจากการยกของหนัก และหลังจากแพทย์ตรวจร่างกายแล้วจึงพบว่า กล้ามเนื้อหลังเกิดภาวะเกร็ง โดยเฉพาะในช่วงล่าง อีกทั้งยังไม่สามารถยกขาสูงได้เนื่องจากมีทั้งอาการปวดร้าวลงขาขวามร่วมกับมีอาการชาลงขาขวาอีกต่างหาก การวินิจฉัยจึงเป็นการตรวจสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI ซึ่งผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกสันหลังข้อที่ 4-5 เคลื่อน แต่นอกจากจะเคลื่อนออกมาแล้วยังไปกดทับเส้นประสาทขาขวาอีกต่างหาก ซึ่งแพทย์อธิบายวเพิ่มเติมว่า

หมอนรองกระดูกเป็นอวัยวะสำหรับรับแรงกระแทกในกระดูกสันหลัง หากเมื่อใดที่เกิดแรงกระแทกสูงเกินกว่าที่หมอนรองกระดูกจะรับได้ ก็จะเกิดการปลิ้นออกหรือ “การเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูก” นั่นเอง ซึ่งหมอนรองกระดูกจะมี 2 ชั้น ชั้นนอกจะเป็นพังผืดคล้าย ๆ วงแหวน ส่วนชั้นในเป็นเจลซึ่งสามารถเลื่อน เคลื่อนที่ได้ กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาหมอนรองกระดูกเคลื่อน หมายความว่าตัววงแหวนที่เป็นพังผืดเกิดการฉีกขาดจากการรับแรงกระแทกมากเกินกว่าที่มันจะรองรับได้ จึงเกิดการฉีกขาดและตัวเจลปลิ้นออกมา โดยส่วนใหญ่มักจะปลิ้นไปทางด้านหลังและไปกดทับเส้นประสาทด้านหลัง เราเรียกว่า “หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน” นั่นเอง


หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท, ปวดหลังร้าวลงขา

2 วิธีเพื่อรักษาให้กลับสู่ภาวะปกติ

ส่วนในแง่ของการรักษาที่แพทย์อธิบายแก่ผู้ป่วยนั้นมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกคือทำการผ่าตัดแบบมาตราฐานทั่วไปที่ใช้กันอยู่แล้ว คือ การผ่าตัดเปิดแผลที่กระดูกสันหลังออก ส่วนอีกวิธีที่ได้แนะนำเป็นวิธีใหม่ที่ใช้ เทคโนโลยีการส่องกล้องผ่าตัด หรือ “Endoscope Discectomy” ซึ่งมีข้อดีตรงที่แผลเล็กและไม่ต้องตัดกระดูกเลย เนื่องจากสามารถสอดกล้องเข้าไประหว่างช่องกระดูกสันหลังตรงบริเวณที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนและสามารถนำดอาหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมาได้โดยปลอดภัย ทั้งยังประหยัดเวลาและช่วยให้ลดการบาดเจ็บได้มากทีเดียว ซึ่งหลังจากได้พิจารณา 2 วิธีที่ว่านี้แล้ว ผู้ป่วยได้เลือกใช้เทคโนโลยีใหม่คือการผ่าตัดส่องกล้อง โดยหลังจากได้ทำการผ่าตัดผ่านไป 6 ชั่วโมงแล้ว ผู้ป่วยสามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้และนอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านพักโดยสามารถเดินเหินได้ตามปกติในวันถัดมา หากเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดนั้น จะต้องเลาะกล้ามเนื้อหลังออกจากกระดูกสันหลังบางส่วน คนไข้ต้องใช้เวลาพักฟื้นเป็นเวลานานกว่า 7 วัน บางรายอาจมากกว่านั้น และกว่าจะเดินได้ต้องใช้เวลานาน 2-3 เดือน ในขณะที่การผ่าตัดแบบส่องกล้องไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสามารถใช้งานได้เลย คนไข้จึงฟื้นตัวเร็ว สามารถเดินได้ในวันถัดไป จึงสรุปได้ว่าเป็นการรักษาที่ค่อนข้างที่จะได้ผลรวดเร็ว ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วยค่อนข้างมากจากวิธีนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภาวะอาการหมอนรองกระดูกซึ่งเคลื่อนออกมาแล้วนั้นจะยังคงเหลือตัวหมอนรองกระดูกบางส่วนได้ สิ่งที่ผ่าตัดออกไปคือเจลบางส่วนที่เคลื่อนออกมาโดยไม่ได้เอาพังผืดที่เป็นวงแหวนที่เป็นตัวรองรับน้ำหนักออกไป เพราะฉะนั้น ตัวหมอนรองกระดูกเดิมจึงยังสามารถทำงานได้พอสมควร แต่ไม่แข็งแรงร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าเดิม แต่ไม่ต้องตกใจไป เนื่องจากยังมีข้อกระดูกสันหลังอีก 2 ข้าง รวมทั้งกล้ามเนื้อหลังที่ยังสามารถช่วยรองรับน้ำหนักได้อีก โดยมีคำแนะนำจากคุณหมอสำหรับผู้ป่วยในกรณีคือ

  • ไม่ก้ม ๆ เงย ๆ มากนัก
  • ไม่ยกของหนัก
  • ควรออกกำลังกายส่วนหลังอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำเพื่อให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง จะได้ช่วยพยุงกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังต่อไป

“คุณหมอพูนศักดิ์” อธิบายเสริมด้วยว่า หากผู้ป่วยรายใดที่เผชิญสภาวะเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้แล้วไม่รีบไปรับการบำบัดรักษา จะมีโอกาสต้องทนทุกข์ทรมานหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขนาดลุกไม่ขึ้นต้องนอนอย่างเดียว โดยไม่อาจลุกนั่งหรือเดินได้ ขณะที่ขาก็จะอ่อนแรง และหากหมอนรองกระดูกมีการเคลื่อนตัวออกมาตรงกลางมากกว่าเดิม ก็อาจจะกดทับเส้นประสาทที่อยู่ตรงกลางซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะ ก็จะส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายเข้าไปอีก ในฐานะเป็นศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลสุขุมวิท จึงแนะนำว่า หากเกิดปัญหาเช่นนี้กับผู้ป่วยรายใด ก็สมควรเข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยเร็วที่สุดจะดีกว่า พร้อมทั้งยังได้อธิบายแถมท้ายด้วยว่า

“การเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกเกิดจากแรงกระแทก คือเกิดจากแรงกดทับมาก ๆ ตรงบริเวณกระดูกสันหลัง เพราะฉะนั้นกิจกรรมใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาการกระแทกของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือเกิดแรงไปกระทบหมอนรองกระดูกสันหลังมาก ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยง เช่น การยกของหนัก ๆ การกระโดดจากที่สูง เป็นต้น การก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำก็มีผลเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงตวรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องเกิดการกระแทกหรืออะไรเหล่านี้”


นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส

นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์โรคกระดูกสันหลัง
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: