อีกขั้นในการรักษา โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (TEVAR) แทนการผ่าตัดเปิดอกหรือหน้าท้อง

หลอดเลือดโป่งพอง, หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง, โรคหัวใจ, หลอดเลือดหัวใจ

อีกขั้นในการรักษา "โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (TEVAR) แทนการผ่าตัดเปิดอกหรือหน้าท้อง "

ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นล้วนส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ หนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ "การเสื่อมสภาพ" ไปพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลาโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งวัยสูงมากก็ยิ่งเสี่ยงมาก...อย่างหนึ่งเห็นจะเป็นกรณี "หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง" ซึ่งแม้จะไม่เกิดกับทุกคนก็ไม่ควรประมาทเพราะเมื่อใดที่มันเกิดขึ้นมาแล้วหากรักษาไม่ทันการ อันตรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลัน

จึงนำข้อมูลจาก นพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลสุขุมวิท มาให้ความรู้เพื่อการป้องกันและเพื่อความไม่ประมาทไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการบ่งชี้ที่อาจก่อให้เกิดความไขว้เขวจนอาจเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที เพราะโรคดังกล่าวก็มักจะไม่บอกตรงไปตรงมา ว่ามีอาการของโรค และถึงแม้จะถึงมือแพทย์แล้วก็ยังต้อง "ลุ้น" ด้วยเหตุที่เป็น "งานหิน" ที่ต้องอาศัยทั้ง "ศักยภาพ" และ "ความพร้อม" ทางการแพทย์ที่ลงตัว ประเด็นแรก "คุณหมอชาติ" กล่าวถึง อาการของผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งบินมาจากประเทศบรูไน เพื่อเข้ารับการรักษา ภาวะไข้หวัดใหญ่ที่อาการค่อนข้างหนัก ปวดเมื่อย ไข้สูง เหนื่อย หัวใจล้มเหลว เบื่ออาหาร พร้อมภาวะโลหิตเป็นพิษ ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดแทรกซ้อน เพาะเชื้อโรคขึ้นตัวเดียวกันทั้งสามขวด ซึ่งลำพังแค่นี้ก็เป็นสาเหตุที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้แล้ว จึงรีบนำส่งตัวเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของปอด หัวใจ และหลอดเลือด ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการจะดูว่ามีภาวะปอดบวมหรือไม่ ซึ่งไม่พบปอดบวมและหาแหล่งการติดเชื้อ(source) โดยอธิบายว่า

"บอกไม่ได้ว่าตอนที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้น เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้นปริแล้วหรือยัง แต่เมื่อมาที่ รพ.สุขุมวิท ได้รับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน เพราะอายุมาก( 83 ปี) และคนไข้เหนื่อยมาก การติดตามผล X-RAY ปอดประจำวัน 5 วันติดต่อกันพบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจโป่งโตรวดเร็วจนน่ากลัว เกรงว่าหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองปริแล้ว ณ เวลานั้น"

เมื่อเจอเข้าอย่างนั้นแล้ว คุณหมอชาติ จึงรีบปรึกษาทีมแพทย์ นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ ศัลยแพทย์ด้านหลอดเลือดและทรวงอก ให้รีบทำการรักษาคนไข้โดยทันที ก่อนที่ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองซึ่งปริแล้วจะแตก ซึ่งหากเกิดขึ้นแม้ในโรงพยาบาลก็อาจไม่ทันการ ประเด็นแรกนี้ คุณหมอชาติสรุปว่า ไข้หวัดใหญ่ นำคนไข้มาพบแพทย์เพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองติดเชื้อ และรุกลามต่อไปกลายเป็น ภาวะโลหิตเป็นพิษนั่นเอง

ใช้เทคโนโลยี TEVAR ลดอัตราเสี่ยง แผลเล็ก หายไว

นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ซึ่งร่วมดูแลผู้ป่วยรายนี้ได้อธิบายว่า หลอดเลือดแดงใหญ่เป็นเส้นทางนำเลือดแดงออกจากช่องหัวใจซ้ายล่างไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หากเกิดความผิดปกติเมื่อใดจะเป็นอันตราย คำว่า “โป่งพอง” คือหลอดเลือดค่อย ๆ โป่งขึ้น หากโป่งไปถึง 5.5 ซม. จะมีโอกาสสูงมากที่ปริและ/หรือแตกโดยเฉียบพลัน และอาจส่งผลต่อชีวิตได้ เพราะฉะนั้นถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางโป่งเกิน 2 เท่าของปกติแล้วก็สมควรได้รับการรักษา มิฉะนั้นจะลงท้ายด้วยการแตกแล้วโอกาสรอดชีวิตมีไม่ถึง 50% !!! ส่วนการรักษาแบบ TEVAR ตามที่ผู้ป่วยได้เลือกไว้นั้น “คุณหมอกิตติชัย” กล่าวว่าจะมีแผลเล็ก ๆ ที่ขาหนีบของผู้ป่วยเพื่อสอด “หลอดเลือดเทียมหุ้มด้วยขดลวด” ซึ่งพับหุบไว้จนมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงประมาณ 7-8 มิลลิเมตร พอสอดเข้าไปถึงตำแหน่งที่โป่งพองก็จะฉีดสีดูแล้วก็ปล่อยให้มันกางออกไปหุ้มข้างในไว้เป็นช่องทางให้เลือดไหลผ่านโดยไม่มีการสัมผัสผนังหลอดเลือดจึงเสมือนเป็นการปิดท่อที่แตกแล้ว (หรือเพื่อป้องกันการแตกของท่อ) และจะเห็นเลยว่าวิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย การรักษาทำได้รวดเร็วและมีอันตรายในขณะรักษาต่ำมาก ฟื้นตัวเร็ว ผลการรักษาระยะยาวค่อนข้างดี แต่หลังการรักษาแล้วจำเป็นต้องติดตามผลด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งตลอดชีวิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อการรักษาที่เหมาะสมซึ่งคุณหมอจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

อาการของผู้ป่วยหลังจากได้รับการรักษาแบบ TEVAR แตกต่างจากก่อนหน้านี้ เสียง “วี้ด ๆ” ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดโป่งพองไปกดทับปอดก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนระดับความดันโลหิตที่เคยสูงก็สามารถควบคุมได้

tevar

ภาพ X-Ray ก่อนเข้ารับการผ่าตัดแผลเล็กด้วยหลอดเลือดเทียมหุ้มด้วยขดลวด

  
tevar

ภาพ X-Ray หลังเข้ารับการผ่าตัดแผลเล็กด้วยหลอดเลือดเทียมหุ้มด้วยขดลวด

เพื่อการป้องกันและการดูแลสุขภาพ คุณหมอชาติ เน้นว่า การป้องกันคือกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้คนเราอายุยืน การป้องกันเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองที่สำคัญ คือ การควบคุม เบาหวาน ความดัน ไขมัน และไม่สูบบุหรี่ เพราะสาเหตุการเกิดโรคดังกล่าวมาจากความเสื่อมของหลอดเลือด โดยเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ความเสื่อมของร่างกายก็เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา แต่เราสามารถชะลอการเกิดความเสื่อมและสามารถเลือกดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพร่างกายและชีวิตที่ดีได้ โดยลดปัจจัยการเกิดโรคข้างต้นได้ ด้วยหลัก 4 Healthy Lifestyles

  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยอย่างน้อยควรออกกำลังกาย 150 นาทีต่ออาทิตย์
  2. ไม่สูบบุหรี่
  3. ควบคุมนำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน BMI =น้ำหนัก (กก.)/ส่วนสูง (ม.2) ซึ่งควรน้อยกว่า 25 (=ดีมาก) และต้องน้อยกว่า 30 (=ดี) (BMI คือ น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วย ส่วนสูงเป็นเมตร ยกกำลังสอง)
  4. เลือกทานอาหารทีมีกากใยไฟเบอร์สูง เพื่อลดการดูดซึมไขมันเข้าร่างกายและช่วยเรื่องระบบขับถ่าย เช่น ถั่ว ผัก เมล็ดพันธ์ธัญพืชต่าง ๆ และลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ (ทานได้ตามน้ำหนักตัวเช่นหนัก 60กิโล ทานได้60กรัมต่อวัน)

ท่านรู้หรือไม่ผู้คนที่อายุยืนยาวกว่าชาวบ้านทั่วไปพวกนี้ถูกเรียกว่าพวก Blue Zones มีเผ่าพันธุ์สายเลือดที่แตกต่างกันมาก มีทั้งเอเชีย ยุโรป แขก ลาตินโน แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ

  1. ใช้แรงงาน
  2. ปลอดภัยจากสารพิษ
  3. ไม่อ้วนกันเลย
  4. กินพืชมาก กินเนื้อสัตว์น้อย ไม่กินอาหารแปรรูป
  5. ไม่เครียด
  6. ครอบครัวผูกพันเหนียวแน่น
  7. อายุยืน

ท่านที่สนใจลองอ่านวิถีชีวิตของ ชาวโอกินาวา ชาวหรรษา (Hunza tribe) ชาวซาดิเนีย Italy ชาวโลมาลินดา California และชาวนิโคย่า Costa Rica มีอะไรที่เหมือนกันอย่างน่าทึ่ง จำไว้นะไม่มียาอายุวัฒนะในโลกนี้หรอก การป้องกันคือกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้คนเราอายุยืน คุณหมอชาติ กล่าวทิ้งท้าย



นพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์

นพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด

  

นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ

นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 145, 155



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: