ไข้เลือดออก อันตรายที่ต้องระวัง

ไข้เลือดออก

ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ นอกจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคยอดฮิตแล้ว “โรคไข้เลือดออก” ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่อันตรายไม่แพ้กัน

โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “เดงกี” (Dengue virus) ที่มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4 ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ จากสถิติขององค์การอนามัยโลกนั้นพบว่า สถานการณ์ระบาดของโรคไข้เลือดออกในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเขตร้อนนั้น มีอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญ โรคไข้เลือดออก นี้สามารถเกิดได้ทั้งปี ไม่ใช่แค่เฉพาะหน้าฝน เพียงแต่ว่า ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดน้ำขัง ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายนั่นเอง

สังเกตุให้ดี อาการแบบนี้ คือ “ไข้เลือดออก”

ในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะมีไข้สูงอยู่ประมาณ 2-7 วันร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกระบอกตา
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อ ปวดกระดูก
  • อาจมีอาการหน้าแดงในบางราย
  • เบื่ออาหาร อาเจียน

แต่มักไม่มีอาการของไข้หวัด เช่น น้ำมูกไหล หรือไอ

ในระยะถัดมา คือ ระยะวิกฤต เป็นระยะที่มีการรั่วไหลของพลาสมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับช่วงที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว อาจพบมีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีเลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด

ระยะสุดท้าย คือ ระยะพักฝื้น ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น ไข้ลดลง เกล็ดเลือดที่เคยต่ำลงจะกลับมาสูงขึ้น ระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น มีความอยากทานอาหารมากขึ้น อาจตรวจพบผื่นที่มีลักษณะเป็นวงกลมเล็ก ๆ สีขาวท่ามกลางผื่นแดง ความดันโลหิตก็จะดีขึ้น จนทุกอย่างเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

รักษาผิดวิธี อาจทวีความรุนแรงของอาการ

เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี ทำให้การรักษาโรคนี้จะเป็นการรักษาไปตามอาการ ซึ่งมีการใช้ยาลดไข้ การเช็ดตัว และการป้องกันภาวะช็อค แม้จะไม่ได้มีการรักษาเฉพาะ แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การซื้อยาลดไข้มาทานเองแบบผิด ๆ อาจจะยิ่งทำให้เพิ่มความรุนแรงของโรคมากขึ้น ซึ่งยาลดไข้ชนิดที่ห้ามทานโดยเด็ดขาด คือ แอสไพรินและไอบูโพรเฟน เนื่องจากยาสองชนิดนี้จะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกวิธี

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

วัคซีนไข้เลือดออกนั้นทำมาจากเชื้อที่เป็นเชื้อไวรัสของโรคทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ควรฉีดห่างจากเข็มแรก 6 เดือน และเข็มที่ 3 ควรฉีดห่างจากเดือนแรก 12 เดือนหรือ 1 ปี ซึ่งนอกจากจ่วยป้องกันแล้ว ยังสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการป่วย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิต


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์อายุรกรรม
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการ ทุกวัน 07.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227