ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 1 ในสาเหตุของการเกิด Stroke

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 1 สาเหตุของการเกิด Stroke

คุณสกลธัญ อุดมผล อายุ 66 ปี “ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ที่มาโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉินด้วยอาการของ “Stroke”

“เวียนศีรษะ เจ็บจี๊ดขึ้นสมอง เหมือนมีอะไรมาทิ่ม แขนขาอ่อนแรง” อาการบ่งชี้ของ Stroke ที่ผู้ป่วยไม่ทราบ คิดว่าตนเองเพียงมีอาการดังกล่าวจากการเวียนศีรษะธรรมดา แต่ยังพอมีสติจึงค่อย ๆ นั่งลงเพราะเกรงว่าตนเองจะล้มแล้วศีรษะฟาดพื้น แล้วจึงค่อย ๆ ไปหยิบยาแก้เวียนศีรษะที่เคยทานประจำมาทาน แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น โชคดีที่ตนเองโทรสั่งอาหารไว้แล้วเด็กส่งมาอาหารมาถึงพอดี จึงได้คลานไปเปิดประตูแล้วขอความช่วยเหลือ เด็กส่งอาหารจึงได้รีบแจ้งกับทางนิติบุคคลของหมู่บ้าน เนื่องจากเห็นว่าผู้ป่วยอยู่บ้านคนเดียวในเวลานั้น นิติบุคคลจึงรีบโทรแจ้งให้ภรรยาของผู้ป่วยทราบ เมื่อภรรยาของผู้ป่วยมาถึง จึงรีบดำเนินการพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที เพราะผู้ป่วยเริ่มหมดสติแล้ว

ด้วยความมีสติของตัวผู้ป่วยและความรวดเร็วของผู้ให้ความช่วยเหลือ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการจนถึงการได้รับการรักษา สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ทันท่วงที ซึ่ง “Stroke หรือโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เป็นภาวะอันตรายที่ต้องรีบให้การรักษาแข่งกับเวลา” เพราะสมองของคนเราขาดเลือดได้ไม่เกิน 270 นาที หรือที่เรามักได้ยินกันว่า “Stroke Fast Track 270 นาทีแห่งชีวิต”


“หัวใจคือสิ่งสำคัญ ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพราะถ้าหัวใจหยุดเต้น นั่นหมายถึงเราเสียชีวิต หากพบว่าตนเองมีอาการที่น่าสงสัย ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที”



เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับความรวดเร็วของการรักษา

เมื่อคนไข้ถูกนำตัวมาส่งที่โรงพยาบาล คนไข้มีอาการหมดสติแล้ว ไม่รู้สึกตัว แขนขาอ่อนแรง แพทย์จึงรีบทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการทำ MRI ก็พบว่ามีลิ่มเลือดอุดตันในสมองซีกขวา จึงจำเป็นจะต้องรีบดำเนินการนำลิ่มเลือดออกมาในทันที ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทางโรงพยาบาลสุขุมวิทได้นำมาใช้ สามารถทำการดูดลิ่มเลือดที่อุดตันในสมองออกมาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อีกทั้งความพร้อมของทีมแพทย์ จึงสามารถดำเนินการรักษาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ

Stroke หรือโรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน อาจสัมพันธ์กับโรคประจำตัวที่เรามี

หลังจากแพทย์ให้การรักษาโรคหลอดเลือดในสมองอุดตันแล้ว แพทย์จำเป็นจะต้องหาสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าว เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำอีก ซึ่งโรคหลอดเลือดในสมองอุดตันสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยที่เป็น Stroke ประมาณร้อยละ5 เป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ในผู้ป่วยรายนี้ เมื่อแพทย์สอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมก็พบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และทำการรักษาด้วยการทานยามากว่า 10 ปี ซึ่งการทานยานี้ ไม่สามารถรักษาอาการของโรคให้หายได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการของโรคเท่านั้น ผู้ป่วยเองทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคพอสมควร เนื่องจากคุณพ่อของผู้ป่วยก็เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สัมพันธ์กับการเกิด Stroke อย่างไร?

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ Atrial Fibrillation คือภาวะที่หัวใจห้องบนทำงานไม่ปกติ เป็นสาเหตุให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ เมื่อลิ่มเลือดเหล่านั้นไปอุดตันในเส้นเลือดที่สมองจึงทำให้เกิดภาวะ Stroke หรือ หลอดเลือดในสมองอุดตันนั่นเอง


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ดักจับอาการซ่อนแอบ ของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เมื่อแพทย์ทราบแล้วว่า ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด Stroke แพทย์จึงทำการตรวจวินิจฉัยอาการของโรคเพิ่มเติม เพื่อจะได้ให้การรักษาที่ตรงจุดและป้องกันไม่ให้เกิด Stroke ซ้ำ แพทย์จึงได้ทำการติดเครื่องมือที่ชื่อว่า เครื่องโฮลเตอร์มอนิเตอร์ (Holter Monitor) เพื่อใช้ตรวจดูความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งในผู้ป่วยรายนี้ ต้องทำการติดเครื่องเพื่อติดตามอาการถึง 3 ครั้ง เนื่องจากว่า

  • ในการติดครั้งที่ 1 : ติดขณะที่คนไข้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พบว่าคนไข้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจริง แพทย์จึงได้ให้ทานยาเพื่อควบคุมอาการ แต่อาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น แพทย์จึงได้ติดเครื่อง Holter Monitor ครั้งที่ 2
  • ในการติดครั้งที่ 2 : ผลการติดพบว่า คนไข้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งแบบช้าและเร็ว จึงได้มีการปรับยาอีกครั้งเพื่อดูอาการ แต่ผู้ป่วยยังคงมีอาการเช่นเดิม แพทย์จึงได้ทำการติดเครื่อง Holter Monitor อีกครั้ง
  • ในการติดครั้งที่ 3 : พบว่า อาการที่ผู้ป่วยรายนี้มี ไม่สารถให้การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งแบบเร็วเกินไปและช้าเกินไป และยังพบว่ามีอาการหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ 3-5 วินาที ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยไม่ได้หลับ อาจทำให้เกิดวูบหรือล้มได้ และการให้ผู้ป่วยทานยาเพื่อลดอาการหัวใจเต้นเร็วเกินไปเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เกิด Stroke อีกได้ เนื่องจากยังมีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติร่วมด้วย อีกทั้งผู้ป่วยรายนี้เป็นมานาน และเป็นถี่ขึ้น การรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการทำงานหัวใจจึงไม่ได้ผล แพทย์จึงต้องพิจารณาทางเลือกอื่นในการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด

Leadless Pacemaker ปลดความน่ากลัวภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หลังจากการตรวจหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย Holter Monitor ถึง 3 ครั้ง นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา แพทย์ผู้ชำนาญการอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยมากที่สุด โดยวางการรักษาออกเป็น 2 แบบคือ

  1. การทานยาเพื่อป้องกันการเกิด Stroke ซ้ำ ซึ่ง Stroke ที่เกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถทานยาเพื่อป้องกันได้
  2. การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Leadless Pacemaker) เพื่อรักษาอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ โดยปัจจุบัน มีเครื่องชนิดใหม่ เป็นชนิดไร้สาย และมีอายุการใช้งานนานกว่ารุ่นเก่า โดยใช้งานได้นานถึง 14 ปี ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องการหลุดของสายหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในหัวใจ และสามารถใส่ได้ง่าย โดยใส่ผ่านหลอดเลือดดำทางขาหนีบ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยกว่า ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน วันรุ่งขึ้นผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ มีคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้นกว่าเดิม

โดยปัจจุบัน หลังจากได้รับการรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแล้ว ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงมีอาการชาครึ่งซีกซึ่งมีผลมาจากภาวะหลอดเลือดในสมองอุดตัน โดยแพทย์ได้ใช้วิธีการทำกายภาพเข้ามาช่วยฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย ผู้ป่วยจึงค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว แต่ยังคงทำการกายภาพอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ ร่วมกับการควบคุมอาหาร

นพ.นิวธ กาลรา แพทย์ผู้ชำนาญการอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด ยังได้ให้คำแนะนำว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจไม่สามารถตรวจพบหรือวินิจฉัยได้ในเพียงครั้งเดียว หากมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรค ควรรีบไปพบแพทย์ อย่าปล่อยปะละเลยสัญญาณเตือนของร่างกาย เพราะหากวินิจฉัยได้ไว การรักษาก็จะยิ่งได้ผลได้ดี”


นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา
นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา
แพทย์ผู้ชำนาญการอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางหัวใจเต้นผิดจังหวะ