การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ของผู้ป่วยโรคหัวใจ

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ของผู้ป่วยโรคหัวใจ

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ คือ การทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจกลับมามีร่างกายและจิตใจกลับมาสู่ภาวะปกติ สามารถปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ได้ รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำ การปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การลดน้ำหนัก การคุมอาหาร การงดสูบบุหรี่ รับประทานยาให้สม่ำเสมอ ลดความเครียด และ "ที่สำคัญที่สุด คือ การออกกำลังกาย"

ท้ังนี้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ป่วยมีหัวใจที่แข็งแรงขึ้น แต่ถ้าไม่เหมาะสมหรือมากเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อหัวใจ การออกกำลังกายหรือฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจของผู้ป่วยโรคหัวใจดีที่สุด คือการปรึกษาแพทยผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ เพื่อจัดโปรแกรมการออกกำลังกายโดยเฉพาะบุคคล หากในกรณีที่ไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยตนเองตามหลักการดังนี้

  1. อบอุ่นร่างกาย (Warm Up) เช่น การเหยียดยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ตามด้วยการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที เช่น การเดินช้า ๆ ก่อนเดินเร็ว ซึ่งการอบอุ่นร่างกาย มีประโยชน์ดังนี้
    • จะช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ
    • และคอยช่วยกระตุ้นระบบหลอดเลือดหัวใจและปอดให้ทํางานต่อเนื่อง 20-60 นาที
  2. ระยะการออกกำลังกายต่อเนื่อง ให้เพิ่มความแรงของการออกกําลังกาย จนถึงระดับที่เหมาะสม พยายามทําให้ต่อเนื่อง 20-60 นาที
  3. เคลื่อนไหวเบา ๆ หลังการออกกําลังกาย (Cool Down) หลังจากออกกําลังกายต่อเนื่อง ให้ค่อย ๆ ลดความแรงของการออกกำลังกายลงช้า ๆ ก่อนหยุด 5-10 นาที ตามด้วยการเหยียดยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งการคูลดาวน์ มีประโยชน์ดังนี้
    • ช่วยป้องกันอาการหน้ามืด เป็นลม ความดันโลหิตตํ่า
    • และยังช่วยลดปัญหาปวดเมื่อยหรือบาดเจ็บจากการออกกําลังกาย

“การรับประทานยา การทำบอลลูน หรือผ่าตัด เป็นการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น
การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซํ้าแล้วซํ้าอีก จําเป็นต้องปรับเปลี่ยนนิสัย ทั้งการรับประทานให้พอเหมาะพอดี ออกกําลังกายสมํ่าเสมอ
ดูแลจิตใจไม่ให้เครียด พักผ่อนนอนหลับเพียงพอ และหลีกเลี่ยงของเสพติดมึนเมาต่าง ๆ ”


การออกกำลังกายให้ถูกวิธี
  1. เลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตัวเอง โดยพิจารณาจากปัญหาสุขภาพ หากมีอาการข้อเข่าเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงการวิ่งหรือกระโดด และควรออกกําลังกายในน้ําแทน เช่น เดินหรือเต้นแอโรบิคในนํ้า
  2. เลือกอุปกรณ์ที่จําเป็นในการออกกําลังกาย เช่น ใส่รองเท้าสำหรับเล่นกีฬา ใส่ถุงเท้าที่ระบายอากาศ
  3. ออกกําลังกายเมื่อร่างกายปกติ หากรู้สึกไม่สบาย ควรรอให้หายก่อนอย่างน้อย 2 วัน ก่อนเริ่มออกกําลังกายใหม่
  4. ไม่ออกกําลังกายทันทีหลังกินอิ่ม การออกกําลังกายหลังรับประทานอาหารอาจทําให้ เกิดอาการจุกเสียด อาเจียน และอาจมีผลต่อหัวใจ ควรทิ้งระยะเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงจึงค่อยไปออกกําลังกาย
  5. ดื่มน้ําให้เพียงพอ เพราะหากร่างกายขาดน้ำ หัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้น ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ประมาณ 1⁄2-1 ชั่วโมง ท้ังก่อนและหลังการออกกำลังกาย สามารถดูได้ง่าย ๆ ว่าตนเองชดเชยนํ้าเพียงพอในขณะที่ออกกําลังกายหรือไม่ โดยดูสีของน้ําปัสสาวะหลังออกกําลังกาย ถ้าสีของปัสสาวะเข้ม แสดงว่าขณะออกกําลังกายร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ
  6. ไม่ควรออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงการออกกําลังกายกลางแดด ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่คับหรืออึดอัดจนเกินไป

หากมีอาการเหล่านี้ ควรหยุดออกกำลังกายทันที และรีบปรึกษาแพทย์

  • รู้สึกอึดอัดหรือไม่ปกติ บริเวณส่วนบนของร่างกาย เช่น ทรวงอก คอ คาง แขน ลิ้นปี่
  • ใจสั่น
  • มึนศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน
  • หอบ เหนื่อยมาก ขณะออกกำลังกาย
  • รู้สึกเจ็บ ปวด ตึง ตามกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ ขณะที่ออกกำลังกาย หรือหลังออกกำลังกาย

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มออกกำลังกาย

ระดับความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ ระดับเบาถึงปานกลางในระยะแรก สามารถวัดได้โดยการจับชีพจรหรือใช้ความรู้สึกเหนื่อยเป็นตัวกำหนด การใช้ชีพจรเป็นตัวกำหนดในภาวะแรกของการออกกำลังกายแบบเบาควรออกกำลังกายในระดับนี้ เมื่อทำได้ดีแล้ว จึงค่อย ๆ เพิ่มความหนักของการออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจแข็งแรงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคหัวใจทุกคนสามารถทำได้และควรทำให้เป็นนิสัย ซึ่งการออกกำลังที่เหมาะสมต้องเป็นการออกกำลังกายที่ถูกหลัก เพราะการออกกำลังกายที่ถูกหลักจะลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายและหัวใจของเราได้


นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช

นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู