วัณโรค

วัณโรค

วัณโรค (Tuberculosis) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศ ผ่านทางการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกกลุ่มช่วงอายุ ทุกเพศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ววัณโรคมักจะแสดงอาการที่ปอด ที่เราเรียกว่า "วัณโรคปอด" จึงมีการแบ่งโรควัณโรคแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ วัณโรคที่พบในปอด และวัณโรคที่พบนอกปอด อย่างเช่น วัณโรคหลังโพรงจมูก เป็นต้น

วัณโรคหลังโพรงจมูก

วัณโรคหลังโพรงจมูก จัดเป็นวัณโรคที่พบนอกปอด มีโอกาสพบได้เพียงร้อยละ 1 ของวัณโรคกลุ่มนี้ นอกจากนี้ วัณโรคที่พบนอกปอด สามารถพบได้ตามอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน

จากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ และผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 อาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก ซึ่งวัณโรคหลังโพรงจมูกสามารถทำการตรวจวินิจฉัยได้จากการ ตรวจชิ้นเนื้อจากบริเวณดังกล่าวหรือต่อมน้ำเหลือง

อาการของวัณโรค

อาการของผู้ที่เป็นวัณโรค สามารถแบ่งออกได้ 2 ระยะ คือ

  1. ระยะแฝง(Latent TB) เป็นระยะที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อแรก ๆ จะยังไม่มีการแสดงอาการใด ๆ เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น หากมีการตรวจพบในช่วงระยะแฝง แพทย์จะให้การรักษาโดยการควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่โรคจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ
  2. ระยะแสดงอาการ(Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้น จนทำให้มีอาการแสดงออกมาชัดเจน เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก รู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น น้ำหนักลด มีเหงื่อออกในเวลากลางคืน เบื่ออาหาร เป็นต้น

การป้องกันวัณโรค

เราสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อวัณโรคได้โดยการ ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงและหมั่นการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อดูความผิดของร่างกาย เพราะหากตรวจพบความผิดปกติ จะได้สามารถรักษาได้เร็ว และมีโอกาสหายขาดได้สูง นอกจากนี้ การได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG) ก็สามารถช่วยป้องกันวัณโรคได้ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิด รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งวัคซีนนี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ประมาณ 80% และมีระยะเวลาในการป้องกันยาวนาน 10-15 ปี






สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : แผนกอายุกรรม
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227