โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาได้ (อาจ)ไม่ต้องผ่าตัด

หลอดเลือดหัวใจตีบ

เราต่างก็รู้ดีว่า “เลือด” นั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อร่างกาย ที่ทำหน้าที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ตามอวัยวะให้ทำงานได้เป็นปกติ และหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญนั้นก็คือ “หัวใจ” เมื่อไหร่ที่เลือดไม่สามารถผ่านเข้าไปเลี้ยงหัวใจได้ ไม่ว่าจะเพราะหลอดเลือดตีบแคบ หรือมีสิ่งอื่นอุดตันหลอดเลือดก็ตาม ถ้าไม่รีบรักษา นั่นหมายถึงอันตรายถึงชีวิต

เรารู้จัก “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” ดีพอแล้วหรือยัง?

นพ.อุทัย พันธิตพงษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านขยายหลอดเลือดหัวใจ อธิบายให้เราเข้าใจง่าย ๆ เกี่ยวกับโรคนี้ว่า โดยปกติแล้วหลอดเลือดของคนเราจะใช้ในการส่งเลือดเข้าไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้หัวใจมีแรงที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ แต่พอใช้งานไปนาน ๆ หรือบางคนมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง ก็ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพและเกิดตะกรัน หรือไขมันไปเกาะติดอยู่ตรงผนังด้านในของหลอดเลือด พอนานเข้าตะกรันนี้ก็จะหนาขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เลือดไหลผ่านได้ไม่สะดวก ถ้าเมื่อไหร่ที่รอยตีบนี้มีมากกว่า 70% นั่นแปลว่าเลือดเริ่มไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ พอเราใช้หัวใจทำงานหนัก ๆ เช่น วิ่ง หรือออกกำลังกาย ก็จะเกิดอาการเจ็บหน้าอก และนั่นก็คือสัญญาณที่ฟ้องว่า ตอนนี้เลือดเข้าไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ เพราะหลอดเลือดหัวใจตีบนั่นเอง

ผู้สูงอายุ คือ “กลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” เท่านั้นหรือ?

ถ้าเรากำลังพูดถึงกลุ่มเสี่ยงหลัก นั่นก็อาจจะใช่ แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะโรคนี้เป็นโรคของความเสื่อมตามอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น อย่างในสมัยก่อน ผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้น ไปถึงจะเริ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ในปัจจุบัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบกลับพบในคนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะแนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป รายที่อายุน้อยที่สุดที่คุณหมอเคยเจอคือเด็กที่กำลังจะรับปริญญา อายุแค่ 20 กว่า ๆ เกิดหัวใจกำเริบ พอฉีดสีดูก็เจอตะกรันในหลอดเลือดที่ต้องรีบรักษา


เคสตัวอย่าง ที่เกือบไม่ได้ไปต่อ เพราะหลอดเลือดหัวใจตีบสนิท แม้อายุเพียง 36 ปี

จากเรื่องราวของคุณธีรวีร์ เครือวัลย์ อดีตหนุ่มสายปาร์ตี ผู้มีไลฟ์สไตล์ที่ค่อนไปทางสุดโต่งในแทบทุกเรื่องราวชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานที่พาให้เขาสะสมความเครียดกองโตไว้ หรือรวมไปถึงรสนิยมในการรับประทานอาหารที่ชอบรสจัดเป็นชีวิตจิตใจ ผู้ซึ่งกลายมาเป็นคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่เคยสังเกตุความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเองมาก่อนเลย

อยู่ ๆ ก็รู้สึกจุกหน้าอก ช่วงแรก ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ก็ไม่ได้กังวลอะไร เพราะไม่รู้ว่าโรคหัวใจเป็นอย่างไร แยกไม่ออกระหว่างโรคหัวใจกับกรดไหลย้อน จนวันหนึ่ง เกิดอาการจุกหน้าอกแบบเดิม แต่ไม่หายซักที จึงตัดสินใจไปพบแพทย์ เมื่อทำการตรวจ ก็พบว่า เส้นเลือดหัวใจอุดตัน 1 เส้น และอีกเส้น เส้นเลือดฝั่วขวา ก็ตีบตันเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนไข้รายนี้ถือว่าโชคดีมากที่มาพบแพทย์ได้ทันและไม่เสียชีวิต


สัญญาณเตือน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ถ้าอาการตามแบบฉบับ ที่คนส่วนมักมี คือ จะมีอาการเจ็บแน่นบริเวณตรงกลางหน้าอก อาจมีร้าวออกไปทางด้านซ้าย แต่ส่วนใหญ่จะจุกอยู่กลางหน้าอก “จะเจ็บเหมือนจุก เหมือนมีอะไรหนัก ๆ มาทับ ไม่ใช่การเจ็บแปลบ ๆ บางทีอาจมีการเจ็บร้าวไปที่มือด้านซ้าย แขนซ้าย และคอด้านซ้ายไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่อาการเจ็บมักจะสัมพันธ์กับการออกแรง คือออกแรงแล้วเจ็บ พอพักก็หาย” หรืออย่างคนไข้บางคนที่มียาอมใต้ลิ้น เมื่อมีอาการเจ็บแล้วอมยา อาการก็จะดีขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ กว่า 30% ของคนไข้ ไม่มีสัญญาณเตือน บางคนไม่มีอาการเลย มาถึงหัวใจก็หยุดเต้น หรือบางคนมาในลักษณะที่ไม่เจ็บแต่มีอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ตัวการกระตุ้นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

นอกจากอายุ โรคอื่น ๆ ก็สามารถทำให้หลอดเลือดเสื่อมพยาธิสภาพได้เร็วขึ้นเช่นกัน ซึ่งโรคหลัก ๆ ก็คือเบาหวาน ตามมาด้วยความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และพฤติกรรมการเป็นอยู่ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ด้วย เช่น

  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
  • ทานอาหารที่มีไขมันสูง

“การผ่าตัด” ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง

ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะเริ่มจากการประเมินความรุนแรงของหลอดเลือดหัวใจตีบเบื้องต้นก่อน ตรวจดูว่ามีอาการตีบมากแค่ไหน หลายจุดไหม ซึ่งในกรณีที่คนไข้มีลักษณะบ่งชี้ว่ารุนแรง แพทย์ก็จะต้องไปฉีดสีดูจำนวนรอยตีบ หรือถ้าไม่ชัดเจน ก็ต้องทำการทดสอบ เช่น การเดินสายพาน หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็ก ถ้าหลังจากการประเมินขึ้นต้นแล้วพบว่าอาการรุนแรง คุณหมอก็จะทำการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการตรวจที่แม่นยำที่สุด ที่จะบอกได้ว่ามีหลอดเลือดตีบกี่เส้น ตีบที่ตำแหน่งไหน และจะต้องทำอะไรต่อไป

ไม่ใช่คนไข้ทุกรายจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ถ้าฉีดสีดูแล้วมีตะกรันน้อย หลอดเลือดตีบไม่ถึง 70% ก็อาจจะให้กินยา แต่ถ้าตีบมาก ก็จะต้องมาดูระหว่างการผ่าตัดกับทำบอลลูน ซึ่งปกติเราจะผ่าตัดในกรณีที่มีการตีบอยู่หลายตำแหน่ง หรือบางคนตันไปเลย ซึ่งการทำบอลลูนไม่สามารถทำได้ ก็จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการทำบอลลูนค่อนข้างก้าวหน้าไปเยอะ และมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ด้วย ว่ามีความชำนาญในการใช้เครื่องมือที่มีความซับซ้อนมากแค่ไหน บางกรณีเป็นรอยตีบที่ยากมาก ๆ จนเกือบจะตัน อาจจะต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของคุณหมอในการรักษา

การเฝ้าระวัง “หลังการผ่าตัด”

หลังจากที่ผ่าตัดบายพาสแล้ว ไม่ใช่คนไข้ทุกรายจะใช้หลอดเลือดแดงมาต่อ โดยธรรมชาติของหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงซึ่งมีความหนาละยืดหยุ่นสูง แต่ส่วนใหญ่แล้วเวลาทำบายพาส จะใช้หลอดเลือดแดงได้แค่ 1 เส้น 1 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าคนไข้เกิดตีบ 2-3 ตำแหน่ง หลายครั้งที่มีการใช้หลอดเลือดดำที่ขามาต่อแทน ซึ่งคุณหมออธิบายว่าธรรมชาติของหลอดเลือดดำนั้นผนังบาง ทนแรงดันสูงไม่ค่อยได้ จึงพบว่าพอคนไข้ใช้หลอดเลือดดำที่บายพาสไปซัก 10 ปี หลอดเลือดดำนี้จะเริ่มตัน และตอนนั้นล่ะที่เป็นปัญหา เพราะจะผ่าตัดซ้ำก็ไม่ได้ หลอดเลือดธรรมชาติที่เคยทำไว้ก็หายไปแล้ว จะซ่อมบายพาสหลอดเลือดดำก็ทำได้ยาก “เพราะฉะนั้นการผ่าตัดอาจจะไปมีปัญหาในระยะยาว จากช่วงหลัง 10 กว่าปี นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าในคนที่อายุน้อย เราจะพยายามหลีกเลี่ยงการผ่าตัดให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าเป็นในกรณีของคนที่อายุเยอะที่ประเมินแล้วว่าเขาน่าจะมีช่วงชีวิตที่เหลือไม่เกิน 10 ปี เราก็อาจจะเลือกที่จะผ่าตัด” แต่ถ้ากรณีอายุน้อยที่จะผ่าตัด คุณหมอแนะนำว่าให้ใช้หลอดลือดแดงให้ได้มากที่สุด และใช้หลอดเลือดดำให้น้อยที่สุด ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าคนไข้ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ในกลุ่มคนที่อายุน้อย คุณหมอมักจะแนะนำให้ทำบอลลูน

ดูแลไม่ดี อาจอันตรายถึงชีวิต

ทั่วไปแล้ว เมื่อทำบอลลูน เรามักจะใส่ขดลวดค้ำยัน เพื่อเคลือบยาที่ป้องกันการตีบซ้ำเอาไว้ ซึ่งขดลวดพวกนี้มีคุณสมบัติลดโอกาสการเกิดการตีบซ้ำได้มาก คือคนไข้จำเป็นต้องกินยาเพื่อดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในหนึ่งปีแรก ห้ามขาดยา ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการอุดตันเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้คนไข้ถึงตายได้ เพราะฉะนั้นหลังทำบอลลูนแล้ว ก็ควรที่จะมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และอย่าลืมกินยาเพื่อควบคุมการตีบซ้ำ

หลอดเลือดหัวใจตีบ “เคยเป็นแล้ว” ทำอย่างไร “ไม่ให้เป็นซ้ำ”

ในกรณีของคนไข้ที่เคยเป็นแล้ว คุณหมอบอกว่าส่วนใหญ่ก็จะรู้วิธีการดูแลตัวเองดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือไม่ค่อยที่จะปฏิบัติตาม เช่น คนไข้เบาหวาน ก็ไม่ยอมที่จะควบคุมอาการ ยังอยากกินของมัน ๆ อยู่ ไม่ค่อยยอมออกกำลังกาย โดยอ้างว่างานยุ่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่คนไข้นั้นรู้ดี แต่ไม่ค่อยยอมปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าตัวคนไข้เองก็มีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้หลอดเลือดนั้นกลับมาตีบอีกหรือไม่

นพ.อุทัย พันธิตพงษ์
นพ.อุทัย พันธิตพงษ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านขยายหลอดเลือดหัวใจ