ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน อาการเบื้องต้นที่ควรสงสัย

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมักจะมีอาการที่ไม่ชัดเจน จนคนทั่วไปนึกไม่ถึงว่าจะมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นั่นก็คือ อาการใจสั่น หน้ามืด หมดสติ ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาการหน้ามืด วิงเวียน หมดสติ อาจเกิดได้บ่อยจนคนไม่คาดคิดว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะอาจเกิดจากยาความดันที่รับประทานมาหลายปี อาจเกิดจากโรคทางสมอง หรือเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะก็ได้ แต่โรคทางสมองมักจะแสดงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือบางครั้งผู้สูงอายุที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดัน เหล่านี้เป็นเหตุให้เส้นเลือดหัวใจตีบ และเมื่อเส้นเลือดหัวใจตีบก็อาจจะเป็นผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้เหมือนกัน และอาการเบื้องต้นเหล่านี้อาจจะแสดงบ่อยหรือไม่บ่อยก็ได้ บางครั้งนั่งอยู่เฉย ๆ ก็แสดงอาการออกมา

ดังนั้น หากรู้สึกมีอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อย ๆ สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้เลย คือ การจับชีพจร เพื่อวัดการเต้นของหัวใจ คือ ใช้สองนิ้วคลำบริเวณข้อมือจะรู้สึกถึงชีพจรที่เต้นมีลักษณะตุ้บ ๆ เหมือนเลือดฉูบฉีด แตะค้างไว้ 15 วินาที และนับจังหวะการเต้นของหัวใจ นับจังหวะการเต้นในช่วง 15 วินาที มาคูณด้วย 4 ก็จะบอกได้ว่าใน 1 นาที ชีพจรเต้นเท่าไหร่ ถ้ามีอัตราการเต้นอยู่ที่ 60 – 100 ครั้ง ถือว่าปกติ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การใช้เครื่องวัดความดัน เพราะในบางเครื่องสามารถวัดชีพจรได้เช่นกัน สิ่งที่ทำให้เราไม่มั่นใจกับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติก็คือ อาการที่แสดงออกมาไม่สม่ำเสมอ เมื่อเกิดอาการแล้วมาพบแพทย์ก็มักจะหายเป็นปกติก่อน ดังนั้น หากรู้ตัวว่าภายใน 1 สัปดาห์ มีอาการมากกว่า 2 – 3 ครั้ง ควรบันทึกอาการเบื้องต้นก่อนว่าเป็นอย่างไร เวลากี่โมง หลังจากนั้นจึงเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ถ้ารู้ว่ามีอาการเบื้องต้นแล้วอย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรงได้ และการมาตรวจอาจทำให้เราทราบถึงโรคแทรกซ้อนของคน ๆ นั้น เพราะถ้าหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ เราอาจบอกได้ว่าคนคนนี้อาจจะมีโรคเส้นเลือดหัวใจตีบซ่อนอยู่ก็ได้





นายแพทย์อภิชัย โภคาวัฒนา
แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด
เฉพาะทางโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรงพยาบาลสุขุมวิท