ปวดหัวเรื้อรัง

เรื่องปวดหัวนี้เป็นกันมาก โดยเฉพาะปวดเรื้อรังกันมาเป็นเดือนๆ หรือเป็นปี ซึ่งมีสาเหตุบ่อยที่สุดคือปวดเพราะไมเกรน และปวดเพราะความเครียด

ไมเกรน จัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากการหดและขยายตัวของเส้นเลือด โดยมากจะทำให้ปวดหัวข้างเดียว และมักจะปวดตุบๆ ตามชีพจร บางครั้งมีอาการตาพร่าก่อนปวดหรือขณะปวด ซึ่งอาการตาพร่าที่เป็นลักษณะของไมเกรน จะมีลักษณะเป็นแสงหยักๆ แผ่ขยายจากตรงกลางออกไปด้านข้าง และบางครั้งจะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน แต่บางคนไม่ได้ปวดหัวครึ่งซีก และไม่ได้ปวดตุบๆ ถ้าปวดแบบนี้ไม่ต่างจากปวดเพราะเครียด ซึ่งหมอเองก็บอกไม่ได้แน่ชัด เพียงแต่พิจารณาดูลักษณะทั่วๆ ไปร่วมกับความถี่ของการปวด หากผู้ป่วยไม่มีลักษณะเป็นคนเครียดและปวดเป็นช่วงๆ ไม่ได้ปวดต่อเนื่องกันทุกวันก็จะวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นไมเกรน

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า คนไทยเป็นคนที่ขาดการสังเกตสังกา แม้แต่อาการป่วยของตนเองก็ไม่ได้สังเกตให้ถี่ถ้วน ขาดรายละเอียดโดยเฉพาะเรื่องปวดหัว ซึ่งไม่เพียงแต่ปวดหัว แม้แต่ปวดที่อื่นก็บอกรายละเอียดให้หมดไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตัวองเป็นคนปวดแท้ๆ บางครั้งหมอเองก็ต้องใช้วิชานั่งทางใน (เดา) วินิจฉัยว่ามันปวดลักษณะใดกันแน่ เพราะถ้าบอกไม่ได้ว่าปวดอย่างไร โอกาสวินิจฉัยโรคถูกน้อยมาก อาการปวดแต่ละที่ก็จะมีลักษณะและความหมายแตกต่างกัน เช่น ปวดหัว, ปวดหลัง, ปวดแขน-ขา, ปวดหน้าอก และปวดท้อง เป็นต้น

แต่ละที่ก็จะปวดได้หลายอย่าง วันนี้ขอบอกเฉพาะเรื่องปวดหัวว่า..

สิ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคนั้น ประกอบด้วย

  • ระยะเวลาที่ปวด ได้แก่ ปวดมานานเท่าใด? ปวดถี่แค่ไหน? ถ้าปวดเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงเป็นนานเท่าใด? (วัน, สัปดาห์, เดือน) และช่วงที่ปวดปวดต่อเนื่องกัน หรือปวดเป็นพักๆ ถ้าปวดเป็นพักๆ แต่ละครั้งที่ปวดเป็นนานเท่าใด?
  • ชนิดของการปวด ได้แก่ เจ็บเสียวแปล็บๆ, ปวดตุบๆ, ปวดตื้อๆ หรือปวดร้าวคล้ายหัวจะระเบิด
  • ตำแหน่งที่ปวด ได้แก่ ปวดเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของศีรษะ หรือปวดทั่วไปทั้งศีรษะ
  • ความรุนแรงของการปวด ได้แก่ ปวดเล็กน้อยทนได้ ปวดมากจนต้องกินยาแก้ปวด ปวดรุนแรงขนาดกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ทุเลาเท่าที่ควร
  • อาการร่วมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการปวด
  • ถ้าขาดรายละเอียดที่กล่าวมาหมอมักจะแยกไม่ได้ว่าปวดจากไมเกรน ปวดจากเครียด ปวดจากไซนัสอักเสบ หรืออื่นๆ เพราะฉะนั้นเพื่อประโยชน์ของตัวผู้ป่วยเอง ต้องจดบันทึกลักษณะการปวดตามหัวข้อที่กล่าวมา แล้วนำไปบอกหมอ เพราะบางครั้งขณะไปหาหมอไม่ปวด พอหมอถามก็เลยตอบไม่ได้หรือตอบมั่วๆ

เรียบเรียงโดย : นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ อายุรแพทย์ระบบประสาท
ศูนย์ : อายุรกรรม
ปรึกษาอายุรแพทย์ : 02-391-0011